หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ข้อมูลประเทศที่น่ารู้ สถาบันเอเจนย์ ข่าวและกิจกรรม ทุนการศึกษา บความน่ารู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์
เว็บไซต์เพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศ ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่างประเทศ
บทความการศึกษา
สนใจเรียน IELTS, TOEIC คลิ๊กเลย

 

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองโลกหลังวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทย

ปี 2011 ถือเป็นปีแห่งภัยพิบัติโดยแท้จริง โดยหลังจากที่ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตนิวเคลียร์หลังแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิเข้าซัดฝั่งตะวันออก ไทยก็เกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่ไปทั่วทั้งภาคกลาง และมีโอกาสสูงที่กรุงเทพฯ อาจมีน้ำท่วมสูงเป็นประวัติการณ์ไปทั่ว หากว่าภาครัฐนำโดย ศปภ. และกรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที โดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับธรรมชาติของน้ำและชัยภูมิของพื้นที่ ทั้งนี้หากน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและสถานที่สำคัญต่างๆ ก็ย่อมทำให้ระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรวนหนักและชะงักงันครั้งใหญ่ได้

ความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนเดือดร้อน โรงงานกว่า 14,000 แห่งโดยเฉพาะ 6 นิคมที่จมไปกับสายน้ำไล่ตั้งแต่สหรัตนนคร โรจนะ บ้างหว้า (ไฮเทค) บางปะอิน นวนคร และบางกระดี รวมมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 200,000 ล้านบาท แรงงานได้รับผลกระทบทันทีไม่ต่ำกว่า 400,000 คน เรือกสวนไร่นากว่า 10 ล้านไร่ที่เสียหายในภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วมที่เริ่มก่อตัวขึ้นในภาคอีสาน ซึ่งมีแนวโน้มว่าความเสียหายในภาคเกษตรจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่

แต่สิ่งที่น่าคิดวิเคราะห์คือ เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเองมีประวัติของการที่เป็นจุดเล็กๆ ในแผนที่โลกแต่กลับเป็นจุดปะทุชนวนไปสู่เหตุการณ์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเช่น วิกฤตการเงินปี 1997 หรือ เหตุการณ์รัฐประหารปี 2006 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า การที่สื่อระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Wall Street Journal, Bloomberg หรือ Reuters ให้ความสำคัญกับข่าวอุทกภัยในประเทศไทยมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกัมพูชาหรือประเทศในแถบอเมริกากลางต่างก็ประสบปัญหาอุทกภัยแต่กลับไม่มีข่าวมากเท่า ก็เนื่องมาจากว่าในทางปฏิบัติแล้ว ประเทศไทยมีความสำคัญไม่น้อยใน “ระบบระหว่างประเทศ” (International System)

น้ำท่วมโรงงานผลิตกล้อง Nikon ที่อยุธยา ส่งผลต่อการเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่ของบริษัท (ภาพจาก @noppatjak)

สถานะของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลก

ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ถึงแม้ศูนย์กลางของ “ระบบระหว่างประเทศ” จะอยู่ที่สหรัฐฯ และมีตัวแปรอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รัสเซีย เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยมีความสำคัญมากในเวทีโลก เหตุเพราะประเทศไทยมีฐานะเป็นทั้ง ฐานอุตสาหกรรม (Industrial Base), ฐานเกษตรกรรม (Agricultural Base) และฐานการค้า (Trade Base) แถมเป็นประเทศที่ถือเงินทุนสำรองสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางเป็นทางผ่านสำคัญของภูมิภาค

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยย่อมส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างตามมาด้วย ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่จะเห็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯกับจีนเข้ามาประชันแข่งขันกันในชั้นเชิงการทูตเพื่อแย่งชิง “ความเป็นผู้นำในการช่วยเหลือประเทศไทยในยามวิกฤต” ด้วยเหตุผลด้านการต่างประเทศและความมั่นคงดังที่กล่าวมานี้

มองในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยถือเป็นชาติการค้าที่สำคัญของโลก เป็นฟันเฟืองที่แม้จะไม่ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้และใช่ว่าจะทดแทนได้ง่ายด้วย เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive ป้อนตลาดกว่า 60% ของทั้งโลก ทำให้ไทยมีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์มาก ผลจากการที่น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ส่งผลให้ระบบ Supply Chain ของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาค ASEAN และอินเดียสะเทือนไปทั่ว ขณะที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เช่น บริษัทแอปเปิลออกมาแสดงความกังวลเรื่องการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช

การที่ไทย ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในภูมิภาค ASEAN และเอเชีย เชื่อมต่อกันผ่านการค้าและการผลิต ผลกระทบจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทยหยุดสายผลิต ย่อมค่อยๆ กระเพื่อมไปทั่วทั้งระบบ Supply Chain ในภูมิภาค เฉกเช่นเดียวกับก้อนหินที่ถูกโยนลงน้ำ

จับตา ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ กระทบทั้งเอเชีย

เราต้องไม่ลืมว่าประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่-สึนามิ-วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ ลากญี่ปุ่นสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลสะเทือนตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์จำนวนมากจากการที่เงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นหากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยืดเยื้อมาก ก็ย่อมสร้างความเสียหายโดยตรงทั้งต่อไทยและญี่ปุ่นแน่นอน ค่าเงินบาทย่อมมีโอกาสอ่อนค่าลงจากการที่ประเทศไทยต้องระดมทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูประเทศ ทั้งจากการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก การเร่งการส่งออก แม้แต่การเทขายเงินดอลลาร์ในทุนสำรองออกมาเพื่อขนเงินกลับไปซ่อมประเทศก็มีความเป็นไปได้

ถ้าหากเหตุการณ์นี้นำไปสู่การลดค่าเงินระดับที่สูงมาก และเกิดขึ้นพร้อมกับการที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเริ่มขนเงินที่มีอยู่ทั่วโลกกลับไปฟื้นฟูความเสียหายของประเทศตัวเอง ย่อมจะส่งผลสะเทือนมากต่อตลาดการเงินโลก และการลดค่าเงินของไทยอาจจุดชนวนให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนขนานใหญ่ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกเอาไว้ และย่อมทำให้ “สงครามค่าเงินระหว่างประเทศ” (International Currency War) กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง

สถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าเป็นห่วง

วิกฤตอาหารและสินค้าเกษตร

แต่สิ่งอื่นที่น่ากังวล และมีโอกาสความเป็นไปได้มากกว่าผลกระทบในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงิน คือ ความปั่นป่วนและความเสี่ยงในภาคเกษตร เพราะไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 30% ของตลาดโลก ความเสียหายของผลผลิตในประเทศ และการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทย ย่อมเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวสูงขึ้นซึ่งนั่นย่อมกระทบชีวิตคนมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วเอเชียและประเทศยากจนอื่นๆ

ทั้งนี้หากเอาบทเรียนในอดีตมาไล่เรียงดูจะพบว่าในปี 2008 ภาวะของการเก็งกำไรและการห้ามการส่งออกข้าวในประเทศใหญ่ๆ เช่น อินเดีย ส่งผลให้ราคาข้าวทะยานมากกว่า 200% ขณะที่สินค้าเกษตรตัวอื่นก็พุ่งในหลักหลายร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกันในช่วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้เกิดจลาจลอาหารกว่า 30 ประเทศทั่วโลกไล่ตั้งแต่เฮติไปจนถึงประเทศอิยิปต์

ปี 2010 ภาวะที่คลื่นความร้อนพาดผ่านแถบทะเลดำจนส่งผลให้เกิดภาวะแล้งจัด ผลผลิตข้าวสาลีในประเทศรัสเซียและยูเครนเสียหายหนัก จนทั้ง 2 ประเทศสูญเสียความสามารถในการส่งออก ต้องประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีพุ่งทะยานขึ้นจนเกิดจลาจลเผาเมืองในโมซัมบิก แอลจีเรีย และเรื่อยมาจนถึงประเทศตูนิเซีย ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่วัยรุ่นเจ้าของแผงขายผักจุดไฟประท้วงฆ่าตัวตาย และนำไปสู่การประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีเบน อาลีเป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์นี้ยังแพร่ไปยังอิยิปต์ ลิเบีย เยเมน ตะวันออกกลาง และซีเรีย ซึ่งในกรณีประเทศอิยิปต์นั้นปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากค่าครองชีพที่แพงจากการที่อาหารราคาสูงด้วย ทำให้ผลจากอิยิปต์สะเทือนไปทั่วโลกอาหรับจนกลายเป็นเหตุการณ์ Arab Spring

เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยนั้นย่อมซ้ำเติมสถานการณ์อาหารโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ และข้าวนั้นมีจำนวนผู้บริโภคสูงกว่าข้าวสาลีมาก แถมยังเป็นอาหารหลักของคนจนทั่วโลก การที่เกิดภาวะขาดแคลนข้าวและราคาข้าวที่สูงขึ้น ย่อมทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องกักตุนสินค้า และเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะดึงดูดนักเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ให้โจมตีตลาดสินค้าเกษตร ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก

ดังนั้นในปี 2012 โอกาสที่จะเกิดเหตุซ้ำรอย Arab Spring อันมีเหตุจากวิกฤตอาหารในประเทศไทย แล้วกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากโลกอาหรับย่อมมีโอกาสไม่น้อย และถ้าหากเกิดวิกฤตอาหารในประเทศอาหรับที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันด้วยแล้ว วิกฤตอาหารในประเทศไทยย่อมลามไปสู่การเกิดวิกฤตพลังงานโลกได้ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าในปีหน้าราคาอาหารจะเป็นตัวดันราคาพลังงานจากการเชื่อมโยงทางปัจจัยการเมือง ซึ่งต่างจากปี 2008 ที่ปัจจัยจากพลังงานดันราคาอาหาร เนื่องจากความเชื่อมโยงของโครงสร้างต้นทุนและการเก็งกำไรในภาคการเงิน

เพราะเหตุนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยย่อมเป็นที่สนใจจากต่างประเทศ ตัวแปรจากการควบคุมสถานการณ์ในประเทศไทยย่อมมีผลสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโลกอันเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ให้เผชิญกับความผันผวนและความเสี่ยงให้สูงขึ้นไปอีกขั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

http://www.siamintelligence.com/

 

รับข่าวสารและโปรโมชั่น
Username
Password
สมัครสมาชิก | ลืมรหัสผ่าน
 


agent ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อนอก ทุนการศึกษา

agent ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อนอก ทุนการศึกษา

เอเจนท์ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อ ทุนการศึกษา