หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ข้อมูลประเทศที่น่ารู้ สถาบันเอเจนย์ ข่าวและกิจกรรม ทุนการศึกษา บความน่ารู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์
เว็บไซต์เพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศ ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่างประเทศ
บทความการศึกษา
สนใจเรียน IELTS, TOEIC คลิ๊กเลย

 

เตือน26-31ต.ค.ทะเลหนุนเกือบ4ม.

"ยิ่งลักษณ์" ควงเหล่าทัพตรวจเขตพระราชฐาน "กรมวัง" มั่นใจน้ำไม่ท่วมพระบรมมหาราชวัง ทหารเร่งดูแลพื้นที่ เตรียมแผนอพยพผู้ป่วยศิริราช นายกฯสั่งทำฟาสท์แทร็กสต๊อกยา หลังโรงงานกระทบ กรมอุทกศาสตร์เตือนระวัง 26-31 ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูงเกือบ 4 เมตร

 

           เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 26 ต.ค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่ท่าราชวรดิฐ เพื่อตรวจสถานการณ์และปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการป้องกันน้ำท่วมบริเวณพระบรมมหาราชวังและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ร่วมตรวจเยี่ยม ขณะที่นายรัตนาวุธ วัชโรทัย กรมวัง เป็นผู้กล่าวบรรยายถึงการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว


           นายรัตนาวุธ กล่าวว่า เรื่องของระบบไฟฟ้าในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งมีการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ดูแลเป็นพิเศษอยู่แล้ว โดยตามปกติเมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าสะดุดก็มีไฟสำรองอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ผบ.ทบ.ได้เตรียมกำลังสารวัตรทหาร(สห.)เข้าไปตรวจดูบริเวณลานไฟฟ้าและประปาที่จะใช้ในวัง อย่างไรก็ตามการที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูงขึ้นมากนั้นเกิดทุกปี เป็นเรื่องปกติของเรา เพียงแต่ปีนี้สูงกว่าเล็กน้อย และต้องเข้าใจว่าพื้นที่วังเป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อเกิดปัญหาฝนตกน้ำก็จะท่วมเข้ามากลางลานพิธี แต่เรามีการติดต่อและปิดท่ออยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา นอกจากนี้ได้มีการเตรียมกระสอบทรายไว้ที่กรมการรักษาดินแดนซึ่งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง โดยมีความพร้อมทั้งเรื่องของกำลังคนและสิ่งของ และเมื่อน้ำล้นขึ้นเข้ามาก็พร้อมปิดประตูได้ทันที มีการติดต่อประสานงานกับฝ่ายทหารอยู่ตลอด


           ด้านพล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า มีการเตรียมการรับสถานการณ์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ในภาพรวม และเราพร้อมส่งกำลังพลมาช่วยในเขตพระราชฐาน รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเรื่องการจัดวางแนวกระสอบทราย


           จากนั้น พ.อ.ธรรมนูญ วิถี ผู้อำนวยการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า สำหรับพระตำหนักในพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวม 12 แห่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบก 9 แห่ง และกองทัพเรือ 2 แห่ง โดยในส่วนของกองทัพเรือนั้น กองทัพบกได้ส่งกำลังพลไปสมทบด้วย ซึ่งผบ.ทบ.ให้นโยบายในการดูแลพระตำหนัก เป็น 4 ขั้นตอน คือ 1.ขั้นการปฏิบัติ 2.ขั้นตอนเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมเข้ามา 3.ขั้นตอนเมื่อจำเป็นต้องอพยพ และ4.ขั้นตอนการฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งในส่วนของพระบรมมหาราชวังก็มีการเตรียมขั้นตอนเหล่านี้ด้วย โดยขั้นแรก มีการเตรียมกระสอบทรายไว้ด้านในสำหรับกั้นประตู 7 ประตู และกองทัพภาคที่ 1 เตรียมกระสอบทรายไว้ที่กรมการรักษาดินแดน 20,000 กระสอบ เพื่อสำนักพระราชวังร้องขอเราจะจัดส่งไปได้ทันที ส่วนพื้นที่โดยรอบริมแม่น้ำนั้น มีกำลังของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ลาดตระเวน ตรวจเสริมกระสอบทราย และมีเครื่องสูบน้ำอยู่ที่บริเวณท้ายวัง 2 เครื่อง และที่ท่าราชวรดิฐ 2 เครื่อง สำหรับกรณีที่เกิดน้ำท่วม ได้เตรียมเก็บสิ่งของในสำนักพระราชวังขึ้นไว้บนที่สูง เตรียมเคลื่อนย้ายรถต่างๆและผู้คน ส่วนขั้นตอนการอพยพคนนั้นขึ้นอยู่กับสำนักพระราชวัง ซึ่งเราได้จัดเตรียมรถและสถานที่สำหรับรองรับคน รวมถึงสิ่งที่เขาร้องขอ ส่วนขั้นสุดท้ายเราเตรียมจัดกำลังพลเข้าไปขนย้ายออกมาแล้วทำการซ่อมแซมและทำความสะอาด

          
           จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการที่ตนได้พูดคุยกับ กฟน. ทราบว่าเขามีตัวจ่ายไฟอยู่ด้านนอก จึงสบายใจได้ว่าอย่างน้อยเรื่องนี้จะไม่เกิดการติดขัด และตนกำลังดูเรื่องความคืบหน้าในการติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำแบบออนไลน์ เพื่อให้มีข้อมูลที่จะทำให้เราเข้าไปช่วยเหลือได้เร็วขึ้นเมื่อเกิดปัญหา ทั้งนี้ ช่วงการฟื้นฟูนั้นทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องมีการมาหารือกันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม และจุดต่างๆที่เป็นจุดสำคัญ รวมถึงแนวคันกั้นน้ำ

เตรียมแผนอพยพผู้ป่วย


           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นเวลา 14.45 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อตรวจดูสถานการณ์และปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน โดยมี ศ.คลีนิค น.พ.ธีระวัฒน์ กุลทนันทน์  คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และพล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. รายงานสถานการณ์และการเตรียมแผนการรับมือสถานการณ์อุทกภัย

ทั้งนี้ ศ.คลีนิค น.พ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้การเตรียมการอยู่ในขั้นที่ 2 วันนี้ประมาณการปริมาณน้ำจะสูงอยู่ที่ 2.46 เมตร คือบริเวณชั้นใต้ดินปัจจุบันลงไม่ได้ โรงพยาบาลจะปิด-เปิดประตูเพียง 3 ประตู คือประตูทางเข้าบริเวณตึกอุบัติเหตุ ประตูทางสถานีรถไฟ และออกตรงวัดอรุณอัมรินทร์ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาทางกองทัพเรือโดยผบ.ทร.ได้เข้ามาดูแลโดยนำหน่วย เคลื่อนที่เร็วของทหารเรือเข้ามาทันที เวลาที่มีน้ำเอ่อท่วมเข้ามาภายใน 10 นาที ก็ช่วยกันวางกระสอบทราย ส่วนแผนการลำเลียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลนั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยที่ต้องช่วยหายใจจำนวน 127 คน ผู้ป่วยหนัก 500 คน และมีผู้ป่วยทั้งหมดประมาณ 2,000 คน เพราะฉะนั้นการลำเลียงผู้ป่วยกรณีหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีการลำเลียงทางน้ำ โดยทางโรงพยาบาลร่วมมือกับทางกองทัพเรือไปยังโรงพยาบาล 4 แห่ง ที่มีการประสานความร่วมมือกันอยู่ ประกอบด้วยโรงพยาบาลสิริกิติ์ของกองทัพเรือ โรงพยาบาลหัวหิน โรงพยาบาลกาญจนบุรี และโรงพยาบาลราชบุรี


           นอกจากนั้นทางศิริราชก็ได้ประสานงานในการช่วยเหลือแพทย์ฉุกเฉินด้วยมีอาสา สมัครวันละประมาณ 40-50 คน ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราชมีประมาณ 70 กว่าตึก แต่ตึกที่มีความสำคัญมีจำนวน 12 ตึก ตรงนี้ได้มีการวางแผนดูแลป้องกันเรียบร้อย โดยเฉพาะอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ตึกเครื่องมืออุปกรณ์สำคัญทางการเมืองที่มีเครื่องเอ็มอาร์ไอตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังมีระบบแก๊สทางการแพทย์ ระบบไฟฟ้าทาง กฟน.ได้เข้ามาดูแลและป้องกันไว้หมดแล้ว และทางกองทัพเรือก็ได้นำเครื่องผลิตไฟฟ้าสำรองมาเตรียมไว้ด้วยเช่นกัน สำหรับเรื่องของน้ำประปา ทาง กปน.ก็ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาติดขัด


แจงถวายรายงานแล้ว



           “หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมหารือถึงแผนการป้องกันและ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมของโรงพยาลบาล ผมก็ได้กราบทูลฯถวายรายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.ผ่านมาในรายละเอียดและแผนงานต่างๆ รวมทั้งผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งพระองค์ก็ทรงพอพระทัย ซึ่งทุกอย่างเราได้เตรียมพร้อมทั้งหมดแล้ว”ศ.คลีนิค น.พ.ธีระวัฒน์ กล่าวกับนายกรัฐมนตรี

           พร้อมรายงานต่อว่า เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่จึงมีผู้ป่วยเข้ารับรักษา เป็นจำนวนมากแม้ปัจจุบันโรงพยาบาลจะสต๊อกยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ไว้จำนวน มากก็ตาม แต่เนื่องจากโรงงานผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันทางโรงพยาบาล จึงไม่แน่ใจว่าจะหาเวชภัณฑ์ได้ทันกับความจำเป็นหรือไม่ แม้เราจะสต๊อกยาไว้มาแล้วก็ตามแต่คิดว่าจะอยู่ได้แค่ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น


เร่งหาสต็อกยา ใช้ฟาสท์แทร็ค



           ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับปากว่าจะเร่งดำเนินการโดยจะมอบหมายให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประสานในการ จัดหาโดยจะใช้วิธีฟาสท์แทร็คเพื่อย่นระยะเวลาในการจัดซื้อ อีกทั้งได้ประสานกับทางกองทัพเพื่อส่งเครื่องบินชีนุกส์ไปขนย้ายตู่คอน เทรนเนอร์ที่จมน้ำอยู่ขึ้นมา เนื่องจากภายในยังมีอุปกรณ์หลายอย่างที่ยังใช้ได้อยู่


           ขณะที่ ผบ.ทร. กล่าวว่า กองทัพเรือ กองทัพบก และกทม.ประสานกำลังในการดูแลพื้นที่ แต่โดยรอบโรงพยาบาลจะขึ้นกับทางโรงพยาบาลและกทม.ในการดูแลด้านหลังและด้าน ที่ติดกับบางกองน้อย จึงสามารถวางแนวป้องกันในความสูงระดับ 3 เมตร จากน้ำทะเล เป็นแนวตั้งรับขั้นที่ 1 ในส่วนแผนขั้นที่ 2 นั้น หากเมื่อน้ำพังทะลายเข้ามาภายในอาคาร กองทัพเรือจะรับผิดชอบในการทำแนวป้องกันโดยใช้การก่ออิฐและวางแนวกระสอบทราย สูง 3.50 เมตรเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามายังอาคารของโรงพยาบาล โดยทั้งหมดจะมีเครื่องสูบน้ำของกทม.กองทัพเรือร่วมกันในการผลักดันน้ำกรณี น้ำล้นเข้ามาบริเวณพื้นจากด้านข้างและด้านหน้าของอาคารทั้งหมดสามารถรรองรับ และป้องกันน้ำท่วมได้ 100 % ส่วนแผนขั้นที่ 3 คือการอพยพผู้ป่วยซึ่งได้มีการเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ได้ตรวจสภาพน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว นายกรัฐมนตรีพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลศิริราช ที่ห้องประชุมตึกอำนวยการ ชั้น 2 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและช่วยกันปก ป้องดูแลพื้นที่ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งการดำเนินงานมีแผนงานอย่างชัดเจน ซึ่งหลังจากที่ตนได้มาดูแล้วก็ดีใจและรู้สึกสบายใจ ซึ่งหากมีอะไรที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนขอให้แจ้งมาจดำเนินการให้โดยเร็ว และจะใช้การดำเนินงานที่โรงพยาบาลศิริราชนี่เป็นต้นแบบกับที่อื่นๆ

           ด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้เราจะผ่านพ้นสถานการณ์ในวันที่ 31 ต.ค.ไปได้ แต่เรายังคงต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมขังต่ออีกประมาณเดือน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมแผนในการรับมือไว้


ย้ำทุกกระทรวงดูแลพื้นที่ตัวเอง



           ต่อจากนั้นเวลา 16.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางกลับมาที่ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจแนวป้องกันโรงพยาบาลศิริราชว่า ค่อนข้างมีความพร้อม เพราะมีแนวระดับน้ำทะเลไว้ให้ ว่าถ้ามีระดับนี้แผนขั้นที่หนึ่งจะทำอย่างไรแผนขั้นที่สองจะทำอย่างไร ก็ถือว่าเป็นโมเดลที่ดี ก็อาจจะให้ไปประยุกต์ใช้กับส่วนอื่นๆด้วย เชื่อว่าถ้าดูจากแนวแล้วมีการป้องกันจากข้างนอกสัก 3 เมตร กองทัพเรือมีการป้องกันชั้นในจุดที่สำคัญอีกสัก 3 เมตร 50เซนติเมตร ก็น่าจะสบายใจ และคงจะไปดูขยายผลเหตุผลอื่นอีกต่อไป ว่าในแต่ละจุดมีการดูแลอย่างไรแข็งแรงหรือไม่

           ผู้สื่อข่าวถามว่า มีจุดไหนที่น่าเป็นห่วงอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงจะเป็นจุดหลักมากว่าที่เหลือ คือจุดสถานที่สำคัญก็พยายามให้ทุกกระทรวงรักษาในส่วนของตัวเอง และวันนี้ทุกกระทรวงก็ได้ติดตามดูแลกำกับอีกชั้นหนึ่ง และหากต้องการความช่วยเหลืออะไรทางศปภ.ก็จะให้ความช่วยเหลือไป แต่ในส่วนการดูแลที่เป็นห่วงคือผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เพราะตามประตูน้ำต่างๆที่เป็นจุดหลักฝั่งที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และฝั่งกรุงเทพฯที่ไหลมาใต้แนวคันพระราชดำริ ก็คือทางประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และสายไหม ซึ่งทางสายไหมก็มีน้ำรั่วซึม แต่ขณะเดียวกันก็เช็คทุกพื้นที่แล้วได้พยายามป้องกันดูแลแนวคันกั้นน้ำนั้น อยู่


เตือนกทม.ตะวันออกหนักสุด


           เมื่อถามว่า ในกทม.หากน้ำท่วมหนักสุดจะท่วมในบริเวณไหน นายกฯ กล่าวว่า จุดหนักสุดน่าจะอยู่ทางฝั่งขวามือ คือฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำจากคลองรังสิตก็ค่อนข้างมีปริมาณสูง


           เมื่อถามถึงในส่วนของพื้นที่รามคำแหง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รามคำแหงก็เป็นพื้นที่ต่ำแต่ว่าในส่วนของการระบายน้ำจะอยู่ใกล้กับส่วนของ
กทม. คิดว่าถ้าทำทางกทม.ก็สามารถสูบน้ำบรรเทาทุเลาลงไปได้

           ผู้สื่อข่าวถามว่า พื้นที่กทม.จะกินบริเวณกว้างแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า อยากให้ดูในส่วนที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของ เปลือกโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ชี้แจงไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่าจะมีพื้นที่เป็นบางส่วนที่มีการประกาศไป ก็จะเป็นบริเวณนั้นมากกว่า บริเวณอื่นคงนิดหน่อยไม่เยอะ


ชี้ป้องกันทุกส่วน


           เมื่อถามว่าบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจ เช่นสีลม จะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังหรอก เราก็พยายามป้องกันทุกส่วน ในส่วนชั้นในก็เป็นส่วนที่ติดอยู่ตามขอบแนวที่เป็นรอยต่อของแม่น้ำ และตามแนวของประตูระบายน้ำที่มีการกั้นไว้ เราอยากให้สังเกตุดูตามแนวคันกั้นน้ำว่าเป็นอย่างไร หากระดับน้ำทะเลหนุนสูงใกล้กับแนวคันกั้นน้ำตรงนั้นจะมีปัญหา ขอความกรุณาพี่น้องประชาชนว่าตามแนวพนังกั้นน้ำนั้นขอให้ช่วยดูแลตรวจตรา รักษา ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งรั่วแตกสลายหรือพัง หรือมีการถูกดึงออกไปอาจจะทำให้น้ำไหลทะลักแรง


ชาาวกรุงอาจต้องใช้เรือ



           ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะแนะนำให้ประชาชนออกต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คาดหวังว่าพี่น้องประชาชนที่อยู่พื้นที่ลุ่มต่ำ อยากให้ใช้ชีวิตพักผ่อนช่วงวันหยุดที่ต่างจังหวัด จะทำให้การดูแลต่างๆ ปลอดภัย เพราะอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ส่วนประชาชนที่อยากอยู่ในกรุงเทพฯนั้น จะมีการจัดการยกของมีค่าขึ้นสู่ที่สูง แต่ไม่แนะนำบริเวณที่น้ำท่วมขังสูง โดยเฉพาะบ้านชั้นเดียว หากน้ำเข้าอาจจะเกิดเรื่องระบบไฟฟ้าที่ตัด เข้าไปดูแลลำบาก รวมทั้งเรื่องอาหารที่ต้องเข้าไปดูแล ถ้ามีบ้าน 2 ชั้น สามารถแยกระบบไฟไปอยู่ชั้น 2 ได้ แต่การเดินทางอาจใช้ทางเรือ

           เมื่อถามว่า
กทม.ระบุว่าคนที่น้ำท่วมสูงและอยู่ชั้นเดียวอยากให้ออกนอกพื้นที่ซึ่งอาจมี การตัดน้ำตัดไฟ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ จริงๆ แล้ว แผนอพยพต่างๆ กทม.เป็นหลัก เรามีส่วนในการทำงานร่วมและให้การสนับสนุน อันนี้ยังไม่ทราบนโยบายของกทม. เมื่อถามว่าคิดว่าวิธีการนี้เหมาะสมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้ก็แล้วแต่วิธี ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ถ้าพื้นที่ที่สูงเมตรกว่าและมีผู้สูงอายุก็จะทำให้เป็นห่วง แต่ก็ขึ้นอยู่กับระบบการดูแลการบริการประชาชน เพราะข้อเท็จจริงอย่างต่างจังหวัด วันนี้ที่เราประสบคือพี่น้องจำนวนมาก ที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ แต่วิถีชีวิตคนต่างจังหวัด อาจต่างกับคนกรุงเทพฯ เพราะต่างจังหวัดอาจชินกับการใช้เรือสัญจรไปมา ถ้าเราดูแลเรื่องเรือ อาหารเครื่องดื่มที่จำเป็นก็อยู่ได้


กรมอุทกศาสตร์เตือนระวัง26-31 ต.ค.น้ำทะเลหนุนสูงเกือบ 4 เมตร


           ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณะภัยกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยม และให้โอวาทแก่กำลังพลของกองทัพเรือ ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลของกองทัพเรือ

           พล.ร.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยต่อผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่จึงได้ระดมสรรพกำลัง และยุทโธปกรณ์ เข้าให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง และสามารถระดมกำลังเพิ่มเติมได้อีกตามความจำเป็นของพื้นที่ โดยให้หน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมของกำลังพล เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ได้ทันท่วงที โดยในวันนี้กองทัพเรือได้จัดรถยนต์บรรทุกจากฐานทัพเรือกรุงเทพ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เรือท้องแบนจากกรมการขนส่งทหารเรือ พร้อมด้วยกำลังพล ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นสูงบริเวณ สะพานอรุณอมรินทร์ ห้างพาต้าปิ่นเกล้า สะพานพระราม 8 ที่ต้องสัญจรไปมายัง โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ

           ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า กองทัพเรือได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ว่า ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงช่วงปลายเดือนตั้งแต่วันที่ 26-31 ต.ค.นี้ โดยในวันที่ 26 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 16.30 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.50 เมตร ในวันที่ 27 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 17.00 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.63 เมตร ในวันที่ 28 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 17.35 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.60 เมตร ในวันที่ 29 ตค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 18.20 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง3.66 เมตร ในวันที่ 30 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 19.00 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.63 เมตร และในวันที่ 31 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 19.30 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.58 เมตร


           ด้าน พล.ร.ท.นิรุทธ์ หงส์ประสิทธิ์ เจ้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากการวัดระดบน้ำเมื่อเวลา 04.50 น. น้ำขึ้นสูงสุดอยู่ 2.43 เมตร และน้ำลดระดับอยู่ที่ 1.65 เมตร และคาดการณ์ว่าน้ำจะขึ้นสองรอบ โดยในเวลา 07.30 น. น้ำจะอยู่ที่ระดับ 2.49 เมตร และขึ้นอีกในเวลา 17.30 น. ระดับน้ำจะอยู่ที่ 2.53 เมตร และนำจะขั้นสูงสุดในวันที่ 29 ต.ค. ที่ 2.65 เมตร

http://www.komchadluek.net/detail/20111026/113061/เตือน2631ต.ค.ทะเลหนุนเกือบ4ม..html

 

รับข่าวสารและโปรโมชั่น
Username
Password
สมัครสมาชิก | ลืมรหัสผ่าน
 


agent ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อนอก ทุนการศึกษา

agent ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อนอก ทุนการศึกษา

เอเจนท์ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อ ทุนการศึกษา