 |
|
|
 |
|
ชง ชัยพฤกษ์"นั่งเลขาฯอาชีวะ-"ศศิธารา"ปลัดกระทรวง
|
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
"วรวัจน์" ลงนามเสนอโผแต่งตั้งโยกย้ายระดับ 10-11เข้าครม. ชง“ ชัยพฤกษ์ “ นั่ง เลขาฯอาชีวะ - "อภิชาติ" เป็นเลขาฯ กกอ.-"ศศิธารา" นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวง
ผู้สื่อข่าวว่ารายงานว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ. ) ได้ลงนามเสนอโผแต่งตั้งโยกย้ายระดับ 10-11 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยโผที่เข้า ครม.นั้น เสนอแต่งตั้งนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระดับ 10 เป็น เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ระดับ 11 , นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ) , น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาการ เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ส่วนรายชื่ออื่น ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ก.ย.นั้น อาจมีผลตามเดิม ยกเว้นนายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กอศ. นั้น ให้คงอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ กศน. ตามเดิม
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 ตุลาคม 2554 |
 |
|
ชงเทียบตำแหน่งครูกับพลเรือนขอเครื่องราช
|
กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมชงเทียบตำแหน่งครูกับพลเรือนขอเครื่องราช
นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการได้เร่งรัดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เร่งรัดดำเนินการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ป.ม. เพื่อประโยชน์ทางด้านสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ทันภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ ล่าสุดสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2554 ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ที่เกษียณ อายุราชการตามกำหนดและก่อนกำหนด ที่มีเงินเดือนถึงขั้นสูงขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ป.ม. เป็นกรณีพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ในบัญชี 7
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการกล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ได้มีการพิจารณาเทียบตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับตำแหน่งข้าราชการพลเรือน อาทิ ครู/ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับทรงคุณวุฒิ เงินประจำตำแหน่ง 13,000 บาท ครู/ศึกษานิเทศก์ เชี่ยวชาญ ระดับเชี่ยวชาญ ครู/ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ ระดับชำนาญการพิเศษ ครู/ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ ระดับชำนาญการ ครู/ครูผู้ช่วย ระดับปฏิบัติการ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ (ผอ.สพท.) เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับทรงคุณวุฒิ ผอ.สพท.เชี่ยวชาญ ระดับเชี่ยวชาญ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ระดับชำนาญการพิเศษ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 3 ตุลาคม 2554 |
 |
|
วรวัจน์"ปัดแรงกดดัน ชงซี10-11ชุดใหม่ เข้า ครม.4 ตุลาฯ "ชินภัทร" รักษาการเลขาฯอาชีวะ
|
ชินภัทร” สุดเฮงนั่งควบเลขาธิการ กพฐ. และรก.เลขาธิการ กอศ. หลัง “วรวัจน์” มีหนังสือคำสั่งฉบับที่ 2 ให้ ขรก.10 รายรักษาราชการในตำแหน่งที่เคยเสนอ ครม. ไร้ชื่อ “พิษณุ” ถูกแขวนที่เดิม คาดพรุ่งนี้อาจไม่มีการเสนอโผโยกย้ายเข้าสู่การพิจารณา
แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นายวรวัจน์ได้ลงนามคำสั่ง ศธ.ที่ สป.840/2554 เรื่องให้ข้าราชการรักษาราชการแทนและรักษาการในตำแหน่ง จำนวน 10 ราย ได้แก่ 1.นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัด ศธ.รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) 2.น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) รักษาการ ปลัด ศธ. 3.นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.)รักษาราชการเลขาธิการ กอศ. 4.นายวิมล จำนงบุตร รองเลขาธิการ กอศ.รักษาการผู้ตรวจราชการศธ. 5.นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รักษาการ ผู้ตรวจราชการศธ. 6.นายอกนิษฐ์ คลังแสง ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาการรองเลขาธิการ กอศ. 7.นายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาการ รองเลขาธิการ กอศ. 8.น.ส.จิรพรรณ ปุณเกษา ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาการ รองเลขาธิการ สกศ. 9.นางวราภรณ์ สีหนาถ ผู้ตรวจราชการศธ. รักษาการ รองเลขาธิการ กกอ.และ10.นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(รองเลขาธิการ กพฐ.)
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โดยในหนังสือดังกล่าวไม่มีรายชื่อ นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่แสดงความประสงค์ขออยู่ในตำแหน่งเดิม และไม่มีชื่อนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.ที่เดิมจะได้แต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กศน. เพราะฉะนั้น นายพิษณุ จึงยังต้องอยู่ในตำแหน่งเดิม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้วันที่ 30 ก.ย. รมว.ศธ.ได้ลงนามในคำสั่งให้ข้าราชการรักษาราชการในตำแหน่งเดิมต่อไป ซึ่งมีผลครอบคลุมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การที่ รมว.ศธ. ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและออกคำสั่งให้ข้าราชการรักษาราชการแทนฉบับที่ 2 นี้ จึงทำให้เกิดคำถามว่าพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) อาจจะไม่มีโผโยกย้ายแต่งตั้งซี 10 และ 11 เข้า ครม.โดยเฉพาะอาจจะไม่มีการเสนอแต่งตั้งซี 11 เพราะหากจะมีการเสนอแต่งตั้งจริงก็ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งดังกล่าว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 ตุลาคม 2554 |
 |
|
"สูงเม่นโมเดล" ต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ
|
ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งในปี 2558 ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ร่วมกับเพื่อนบ้านอีก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจกับการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
การจัดการศึกษาที่ผ่านมา แม้ว่าหลักสูตรระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติให้มีทักษะพื้นฐาน เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพทั้งในด้านการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วนักเรียนระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเรียนสายสามัญ โดยต่างมุ่งหวังที่จะก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย
ในแต่ละปีเราจึงมักเห็นภาพเดิม ๆ คือ มีผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้เพียง 10-20% และยังมีอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนจำเป็นต้องศึกษาต่อด้านอื่นทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ชอบ บางคนศึกษาต่อเพียงเพื่อให้ได้ใบปริญญาบัตร แต่เมื่อจบออกมาก็ไม่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่มุ่งหวังได้ ซึ่งถือเป็นการศึกษาที่สูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนการเรียนตั้งแต่เริ่มต้น หรือ อย่างน้อยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคนต้องหมั่นประเมินตนเอง เพื่อตรวจสอบความรู้ ความสามารถ ความถนัด และความสนใจให้ชัดเจน ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกศึกษาต่อด้านใด ๆ ที่สำคัญจะต้องเลือกตามความถนัดและความสนใจจริง ๆ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเปล่าทางการศึกษาที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ
ปัจจุบันยังคงมีเด็กจำนวนมากที่เรียนไปโดยที่ไม่รู้เป้าหมายของตนเอง ไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร หรือโตขึ้นอยากทำงานด้านไหน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการลงทุนทางการศึกษา ดังนั้น ครูแนะแนวหรือครูประจำชั้น จะต้องช่วยดูแลให้คำปรึกษาชี้แนะเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้ค้นพบว่าอาชีพใดที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตนเอง ช่วยเสริมเติมเต็มให้มีแนวทางในการเลือกศึกษาต่อ และเลือกอาชีพการงานในอนาคตด้วยความมั่นใจ
คำว่า “สูงเม่นโมเดล” คงจะเริ่มคุ้นชินสำหรับท่านที่อยู่ในแวดวงการศึกษา นับตั้งแต่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน หยิบยกนำมาเป็นโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเมื่อจบแล้วมีงานทำ สูงเม่นโมเดลเป็นรูปแบบการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยาและโรงเรียนต้นแบบใน 3 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน และพะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยาและโรงเรียนต้นแบบ ที่มีการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่การสร้างอาชีพนั่นเอง
นอกจากจัดทำหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาแล้ว ยังได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลักสูตรเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หลักสูตรอุตสาหกรรมอาหารและบริการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพ
“ที่ผ่านมาระบบการศึกษาใช้เวลาเรียน 12 ปีเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนตามความถนัดมากนัก ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การปรับระบบการเรียนในระดับมัธยมศึกษาเป็น 3 สาย คือ มัธยมศึกษาที่มุ่งสู่การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย มัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติทั้งในสาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการบริหารจัดการและการบริการ และมัธยมศึกษากลุ่มความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการนำนโยบายการพัฒนาการศึกษาแบบกลุ่มพื้นที่ หรือ Area Based และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 2555 สถานศึกษาจะต้องร่วมมือกับหน่วยการศึกษาอื่นในจังหวัด เพื่อแปลงนโยบายไปสู่แผนปฏิบัติของแต่ละจังหวัดให้เกิดขึ้นจริง” จากคำกล่าวบางตอนของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
“ต่อไปจะต้องมองการศึกษาออกไปไกลกว่าการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าวัดจากผู้ที่จบการศึกษาแล้วมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระบุว่าต้องให้ผู้ที่จบการศึกษา มีที่ยืนหรือมีงานทำ ไม่ใช่มีลู่วิ่งลู่เดียว คือ มุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยเพราะฉะนั้นอนาคตเด็กไทยจะต้องปรับเปลี่ยน ต้องส่งเสริมให้เด็กได้คิดนอกกรอบ เพื่อให้เห็นช่องทางอาชีพที่หลากหลาย และต้องส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการเอง” จากคำกล่าวบางตอนของ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะหน่วยงานหลักที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สูงเม่นโมเดล ถือเป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เน้นตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียนต้องศึกษาศักยภาพโรงเรียน นักเรียน ชุมชน ท้องถิ่น และดำเนินการร่วมกับหน่วยการศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง คงต้องอาศัยพลังร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันขับเคลื่อนแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพนำไปสู่ความสำเร็จ เพื่อสร้างศักยภาพเด็กไทยให้เข้มแข็งรองรับการแข่งขันในปี 2558.
ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 04 ตุลาคม 2554 |
 |
|
ครม.แต่งตั้ง "พิษณุ-เบญจลักษณ์" นั่งรองเลขาฯ กพฐ
|
นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวปิยะดา ปุณณกิติเกษม รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ว่า ครม.ได้อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้นายประเสริฐ บุญเรือง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามเดิม และแต่งตั้งนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายพิษณุ ตุลสุข ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนรายอื่นๆ คงเดิม
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าจากการที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูงของ ศธ.จำนวน ๑๑ ราย เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔ และต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือยกเลิกการอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงนั้น
ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ได้เห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ดังนี้
นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัด ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัด ศธ.
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายประเสริฐ บุญเรือง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามเดิม
นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นายอกนิษฐ์ คลังแสง ผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายวิมล จำนงบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการ ศธ.
นายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล ผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการ ศธ.
น.ส.จิรพรรณ ปุณเกษม ผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาการศึกษา
นางวราภรณ์ สีหนาท ผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2011/oct/257.html |
|
|
|





|