หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ข้อมูลประเทศที่น่ารู้ สถาบันเอเจนย์ ข่าวและกิจกรรม ทุนการศึกษา บความน่ารู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์
เว็บไซต์เพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศ ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่างประเทศ  
บทความการศึกษา
สนใจเรียน IELTS, TOEIC คลิ๊กเลย
โรงงาน 100 แห่งในนิคมฯลาดกระบังปิดหนีน้ำแล้ว
วันนี้(11 พ.ย.) นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการรกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังจากปัญหาน้ำท่วม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในนิคมฯลาดกระบังที่มีทั้งหมด 231 แห่งได้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวแล้วประมาณ 100 แห่งเนื่องจากกังวลต่อปัญหาภาวะน้ำที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดวันนี้ น้ำยังคงขึ้นอีก 2 เซนติเมตร                “ นิคมฯมีคันดินเก่าและเราได้ต่อเติมคันดินใหม่ และมีวีว่า บอร์ดอีกชั้นความสูง 1.20 เซนติเมตร ขณะนี้น้ำข้างนอกนิคมฯยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวันเฉลี่ย 3-5 เซนติเมตรอย่างวันนี้ก็ขึ้นอีก 2 เซนติเมตรแม้จะไม่มากแต่ก็ทำให้น้ำซึมผ่านช่องระหว่างคันดินเก่าและใหม่ที่เราต้องอุดตลอด 24 ชั่วโมงเพราะน้ำขยับมาถึงคันดินใหม่แล้วเพราะคันดินใหม่ค่อนข้างอ่อนถ้านับจากวีว่าบอร์ดเหลือแค่ไม่เกิน 70 เซนติเมตร”                อย่างไรก็ตามได้เตรียมเครื่องปั๊มน้ำของนิคมฯขณะนี้รวบรวมได้แล้ว 54 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันและพยายามระบายน้ำลงคลองให้มากสุดโดยขอรถแม็คโคร 2 ตัวไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม(ศปภ.) แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับ http://www.manager.co.th/
นิคมฯ บางชันใกล้วิกฤต เหตุไม่มีน้ำมันเติมเครื่องสูบน้ำ ส.ก.โวย ศปภ.เอาแต่นั่งเทียน
ทหารทำแผน "มะรุมมะตุ้ม"กู้ ถ.เสรีไทย ขวางน้ำเข้านิคมฯ บางชัน สุดอนาถ น้ำสูงทุกวันเพราะไม่มีน้ำมันเติมเครื่องสูบน้ำและเรือดันน้ำลงคลองแสนแสบ ส.ก.มีนบุรี สุดทนโวย ศปภ. เอาแต่นั่งเทียน ไม่เคยลงดูพื้นที่จริง ปล่อยน้ำสูงจนใกล้วิกฤต                ผู้สื่อข่าวรายงานจากนิคมอุตสาหกรรมบางชันว่า วันนี้ ได้มีการประชุมสรุปสถานการณ์น้ำ และการรับมือปัญหาน้ำท่วม นายยงยุทธ ทองสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้ตกลงให้กองกำลังทหารจัดทำแผนทำให้ถนนเสรีไทยบริเวณแยกบางชันที่ผ่านไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางชันแห้งลง ภายใต้ชื่อแผน "มะรุมมะตุ้ม" โดยจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป ด้วยการอุดและบล็อกท่อระบายน้ำ เพื่อให้น้ำที่ไหลเอ่อมากลับไปสู่ระบบคลอง จากนั้นจะสูบน้ำออกจากถนนเสรีไทย โดยเชื่อว่าถ้าแผนนี้ประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลา ตี 5 และ 6 โมงเช้าของวันที่ 12 พ.ย.น้ำบนถนนเสรีไทยที่ท่วมอยู่ 20 ซม.จะแห้งสนิท โดยการดำเนินการภายใต้แผนนี้ เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์และการจราจรบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งถูกสื่อมวลชนรายงานทุกวันว่า มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจนรถขนาดเล็กผ่านไม่ได้ ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางป้องกันน้ำที่เริ่มมีน้ำเอ่อและซึมจากแนวใต้กำแพงของนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาในบริเวณบริษัท สยามธานีเฟอร์นิเจอร์ จำกัด และบริษัทฮั่วฮงเส็งจำกัด ซึ่งอยู่ติดกับบึงกระเทียม ถ้าหากไม่ป้องกัน จะทำให้ น้ำไหลเข้าสู่บริเวณโดยรวมของนิคมฯได้                สำหรับการระบายน้ำออกจากบึงกระเทียม ซึ่งอยู่ด้านหลังนิคมฯบางชัน เพื่อลงสู่คลองหลอแหลและคลองบางชัน เพื่อระบายสู่คลองแสนแสบและอุโมงค์พระราม 9 ยังติดปัญหาเรื่องไม่มีน้ำมันที่จะเติมในเครื่องสูบน้ำ และน้ำมันที่จะเติมในเรือดันน้ำ 24 ลำ จนทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารไม่เป็นไปตามแผน ที่ประชุมจึงสรุปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ออกค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วจึงประสานเบิกเงินจาก ศปภ.ต่อไป                นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก. เขตมีนบุรี เปิดเผยว่า รู้สึกอึดอัดตั้งแต่ ศปภ.ไม่มีอำนาจตัดสินใจและทีมงานยังนั่งเทียน ไม่ลงพื้นที่จริง รับแต่ข้อมูลจากกรมชลประทานและกรุงเทพ มหานคร ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลจริง ทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่ทันเวลา ตัวอย่างนิคมฯบางชัน นายกรัฐมนตรีสั่งการมาร่วมเดือน แต่เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม แม้แต่น้ำมันที่จะมาเติมในเครื่องสูบน้ำและเรือดันน้ำเพื่อดันน้ำไปลงคลองแสนแสบไปสู่อุโมงค์พระราม 9 ในตอนนี้ก็ยังไม่มี                นอกจากนี้ การจัดทำแผนป้องกันนิคมฯประชุมกันมาหลายครั้ง แต่ไม่มีใครตัดสินใจ ทั้งๆ ที่วิธีการระบายน้ำทำไม่ยาก แค่ให้ระบายไปตามคลองรับน้ำ คลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ ซึ่งไม่ได้ทำเลย กลับปล่อยไปตามยถากรรมลงในท่อระบายน้ำ และถนน บ้านเรือนประชาชน โดยไม่ได้วางแผนไว้เลย กรณีนิคมฯบางชันก็ปล่อยให้น้ำลงบึงกระเทียม และปล่อยให้ไหลเข้าท่อระบายน้ำ รอบนิคมฯและท่วมถนนในบริเวณนิคมฯ ซึ่งง่ายนิดเดียวที่น้ำจะไม่ท่วมไปในบ้านจัดสรร คือ การบล็อกน้ำไม่ให้เข้าสู่ท่อระบายน้ำ เพราะระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครใช้ระบายน้ำจากท่อระบายน้ำลงสู่คลอง ในทางกลับกันถ้าน้ำท่วม คือมาจากท่อระบายน้ำลงสู่ถนน ถ้าป้องกันไม่ให้น้ำคลองเข้าสู่ท่อระบายน้ำได้ ก็จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชน                นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครไม่ได้เตรียมการเปิดปิดประตูระบายน้ำอย่างเหมาะสม ไม่มีการตรวจค่าระดับน้ำ เพื่อระบายน้ำสู่ระบบของกรุงเทพมหานคร เช่น อุโมงค์พระราม 9 และสถานีสูบน้ำพระโขนงทำให้ประชาชนหลังประตูระบายน้ำเดือดร้อนมากว่า 3 เดือนแล้ว และกรุงเทพมหานครก็ไม่เคยบอกข้อมูลที่แท้จริงของการเปิดประตูระบายน้ำ ให้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เช่น การเปิดประตูระบายน้ำหม้อแตก ประตูระบายน้ำหนองใหญ่ เพื่อให้น้ำจากคลองหกวาสายล่างเข้าสู่กรุงเทพฯ http://www.manager.co.th
บอลไทยถล่มเขมร4-0
บอลไทย ยำใหญ่ เขมร 4-0 ประตู ในศึกซีเกมส์ครั้งที่ 26 เขี่ยตกรอบ การแข่งขันฟุตบอลชายในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2554 ทีมชาติไทย ลงสนามเป็นนัดที่ 2 ของกลุ่มเอ พบกับ กัมพูชา ที่สนามเกโลรา บังกาโน (เสนายัน) โดยมีกองเชียร์ไทยส่วนหนึ่งเข้ามาให้กำลังใจ นัดนี้ทีมชาติไทยเปลี่ยนผู้เล่นจากนัดแรกถึง 6 ตำแหน่งโดย 11 คนแรกที่ลงสนามประกอบด้วย ผู้รักษาประตู อุกฤษณ์ วงศ์มีมา คู่เซ็นเตอร์แบ็ก เอกสิทธิ์ ฉาวบุตร กับ ธนพล อุดมลาภ แบ็กขวา คมกริช คำโสกเชือก แบ็กซ้าย ซีเกต หมาดปูเต๊ะ กองกลาง นฤพล อารมณ์สวะ ปกเกล้า อนันต์ สารัช อยู่เย็น อรรถพงษ์ หนูพรหม กองหน้า รณชัย รังสิโย กับณธฤษภ์ ธรรมรสโสภณ เปิดเกมเล่นนักเตะไทยลุยใส่ทันที กระทั่งนาที 17 ณธฤษภ์ พาบอลเข้าไปซัดด้วยซ้ายตรงหน้ากรอบเขตโทษบอลพุ่งเสียบเสาเบิกสกอร์แรกให้ไทยนำ 1-0  จนจบครึ่งแรกไทยนำแค่ 1-0 ครึ่งหลัง ถึงนาทีที่ 58 ไทยเกือบได้ประตูที่ 2 อีกครั้ง แต่ลูกโหม่งของณธฤษภ์ชนคานดังสนั่นอีก 7 นาทีต่อมา ไทยเกือบได้ประตูที่ 2 จากลูกยิงในเขตโทษของเกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ที่ถูกเปลี่ยนลงมาในครึ่งหลัง แต่บอลพุ่งชนเสากระดอนออกมา หลังจากนั้นไทยกระหน่ำบุกอย่างหนักกระทั่งนาที 72 ซีเกต เปิดบอลจากริมเส้นฝั่งซ้ายมาให้ อรรถพงษ์ ตั้งป้อมพุ่งโหม่งแบบเน้นๆ ระยะ 8 หลาทำประตูให้ไทยขยับนำห่าง 2-0 และอีก 4 นาทีต่อมา เกริกฤทธิ์ หลุดเข้าไปซัดในเขตโทษให้ไทยนำห่างกัมพูชา 3-0 ถัดไปนาที 82 อรรถพงษ์ ซัดเพิ่มให้ไทยนำห่าง 4-0 หมดเวลาการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติกัมพูชา 4-0 ส่งผลให้ทีมชาติกัมพูชาตกรอบแรกไปโดยปริยายเนื่องจากแข่งมา 3 นัดแต่ยังไร้แต้ม ส่วนทีมชาติไทยที่เก็บเพิ่มเป็น 3 แต้ม เตรียมพบเจ้าภาพ อินโดนีเซีย ในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. ถ่ายทอดสดทางช่อง 9 http://www.posttoday.com/กีฬา/ฟุตบอล/121266/บอลไทยถล่มเขมร4-0
น้ำประชิดนิคมลาดกระบัง
น้ำซึมเข้านิคมลาดกระบังทำคันดินชั้น2  ด้านทิศเหนือ พร้อมระดมเครื่องสูบน้ำ 54ตัว รับน้ำทะลัก นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ขณะนี้ระดับน้ำจากทางทิศเหนือที่ประชิดกับแนวคันกั้นน้ำของนิคมฯ เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 2 เซนติเมตร แต่ปริมาณน้ำยังไม่ไหลเข้าเขตนิคมฯ นอกจากนี้ ยังมีน้ำจากด้านตะวันออกตอนบนและด้านตะวันตก ที่ล้อมรอบนิคมฯ แต่ด้านทิศใต้น้ำยังไม่ประชิด เนื่องจากมีเขตชุมชนอยู่ ทั้งนี้ น้ำบางส่วนได้เล็ดลอดผ่านเข้ามาหลังแนวกระสอบทราย แต่ปริมาณไม่มากพอที่จะทำการสูบออก แต่ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 54 เครื่องแล้ว และเตรียมเร่งผลักดันน้ำที่ล้อมรอบลงสู่คลองต่างๆ เพื่อระบายลงสู่ทะเล นอกจากนี้ ด้านทิศเหนือที่น้ำเข้ามาประชิด ได้เสริมความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำและสร้างแนวคันซ้อนไว้ เพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาประชิดกับแนวเดิมโดยตรง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ที่อาจได้รับผลกระทบได้พูดคุยทำความเข้าใจและจัดพื้นที่บางส่วนให้ชาวบ้านได้เข้ามาพักในนิคมฯ เนื่องจากน้ำยังไม่ท่วม ขณะที่ผู้ประกอบการได้ประชุมประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยบางส่วนที่หยุดการผลิตไปนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ มิใช่ถูกน้ำท่วมแต่อย่างใด. http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/กทม./121251/น้ำประชิดนิคมลาดกระบัง
ขยะซ้ำปัญหาระบายน้ำลงทะเล
ปัญหาขยะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการระบายน้ำในคลองสนามชัย และคลองราชมนตรี 2 คลองหลักที่จะระบายน้ำลงสู่ทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันลอยกระทง ปริมาณขยะจากโฟม และเศษวัสดุที่ประชาชนนำมาใช้ทำกระทงลอยน้ำเพื่อขอขมาต่อแม่คงคาตามประเพณี ยิ่งซ้ำเติมปัญหาขยะล้นคลองให้มากยิ่งขึ้น แม้เศษกระทงปีนี้จะน้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มาจากการขอความร่วมมือจากทางการแล้วก็ตาม จากการสำรวจบริเวณประตูระบายน้ำคลองสนามชัย พบว่า ยังมีเศษโฟมที่ทำจากกระทงให้เห็นบริเวณปากประตูระบายน้ำ โดยพนักงานของกทม. กล่าวว่า ทั้งโฟม เศษวัสดุต่างๆ ที่ใช้ทำกระทงได้ลอยมาติดอยู่ตรงปากประตู พร้อมๆ กับขยะที่มีอยู่จำนวนมากอยู่แล้ว แม้ว่าเศษกระทงปีนี้จะลดลงมาก จากทุกๆ ปี ที่ต้องเก็บเศษกระทง 3-4 เที่ยวคันรถ น้ำหนักเที่ยวละ 5 ตัน ปีนี้เหลือประมาณ 1 เที่ยวคันรถ แต่เมื่อรวมกับขยะอื่นๆ ที่ยังคงมีปริมาณมากประมาณวันละ 5 เที่ยว ก็ทำให้พนักงานมีงานเพิ่มขึ้นในช่วงที่ต้องเร่งระบายน้ำจำนวนมากจากด้านบนลงคลองสนามชัย สำหรับสถานการน้ำด้านในประตูระบายน้ำคลองสนามชัยเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (11 พ.ย. 54) ระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 0.6 เมตร ส่วนอกประตูระบายน้ำน้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ 0.96 เมตร ปริมาณน้ำในประตูระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร เนื่องจากได้มีการติดตั้งเรือดันน้ำ ส่งน้ำมายังประตูระบายได้มากขึ้น โดยที่ประตูระบายน้ำได้เปิดเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 11 ตัว จากที่มีอยู่ 15 ตัว สามารถระบายน้ำได้ตัวละ 3 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองสนามชัยยังถือว่าปกติ ส่วนประตูระบายน้ำคลองราชมนตรี ก็ยัคงมีปัญหาขยะเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยได้เพิ่มเที่ยวเก็บจาก 3 เที่ยวรถ เป็น 5 เที่ยวรถต่อวัน ขยะมีทั้งกระทงที่ชาวบ้านลอยมาติดตั้งแต่เมื่อคืนยังเก็บไม่หมด เศษขยะเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงที่นอนขนาด 6 ฟุต หรือท่อนไม้ขนาดใหญ่ก็ยังมีคนเอามาทิ้งลงคลอง เจ้าหน้าที่ กล่าวว่า ได้ทะยอยเก็บขยะต่อเนื่อง โดยจะไม่หยุดเครื่องสูบน้ำ เพราะได้รับคำสั่งมาให้เร่งระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามลา ห้ามป่วย โดยมีการผลัดเวรกัน 2 ผลัดๆ ละ 8 คน เพื่อเร่งระบายน้ำให้ได้มากที่สุด สำหรับปริมาณน้ำในประตูระบายน้ำในช่วงบ่ายนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 0.30 เมตร ขณะที่น้ำนอกประตูอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 0.90 เมตร ปริมาณน้ำถือว่ามากกว่าช่วงเวลาปกติที่น้ำด้านในประตูระบายน้ำจะอยู่ถึง 1.40 เมตร โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่ โดยเปิดเครื่องสูบที่มีอยู่ทั้ง 10 ตัวอย่างเต็มกำลัง แม้ว่าปริมาณน้ำที่ส่งลงไปด้านล่างจะเพิ่มมากขึ้นและอาจจะส่งผลต่อชุมชนที่อยู่บริเวณริมคลอง แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับสภาพน้ำที่มีปริมาณมากกว่าปกติ ส่วนสถานการณ์น้ำ บริเวณแยกบางบอนมุ่งสู่ถนนพระราม 2 ได้ประชิดถนนพระราม 2 มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงถนนพระราม 2 ที่มุ่งหน้าเข้าสู่แยกบางบอนมีปริมาณน้ำท่วมขังประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นน้ำที่ผุดมาตามท่อระบายน้ำ และเหลืออีก 100-200 เมตรจะมาถึงถนนพระราม 2 แล้ว ส่วนหัวน้ำที่มาแยกบางบอนติดอยู่บริเวณคลองสี่บาท แต่ก็มีน้ำบางส่วนผุดขึ้นมาจากท่อบนถนนที่จะมุ่งหน้าเข้าพระราม 2 เช่นกัน http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/กทม./121227/ขยะซ้ำปัญหาระบายน้ำลงทะเล
กรมชลฯเตือน12-16 พ.ย.น้ำทะเลหนุน3จังหวัด
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง ใน3 จังหวัดได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.สิงห์บุรี จ.พระนครศรีอยุธยา  ส่วนน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างลดลงตามไปด้วย แต่ยังคงมีน้ำที่ท่วมขังค้างทุ่งไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบกับในช่วงวันที่ 12 - 16 พ.ย. 54 เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง คาดว่า จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และ กรุงเทพฯ มีระดับน้ำสูงขึ้น และอาจจะส่งผลให้น้ำที่จะต้องระบายออกสู่ทะเลลำบากมากขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย http://www.siamrath.co.th
พื้นที่น้ำทรง-น้ำลด
http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/กทม./121124/พื้นที่น้ำทรง-น้ำลด
เสียงคนบางเขนถึงส.ส.เพื่อไทย
   ส.ส.เขตบางเขน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บริเวณบ้านสวนบางเขนเข้าไปไม่ได้เพราะน้ำลึก และที่นั่นก็มีคนต่อต้าน ผู้นำชุมชนเป็นคนของประชาธิปัตย์ ก็ปลุกระดมชาวบ้านที่นั่น "ที่นั่นเขาไม่ชอบผมอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านบางส่วนก็เป็นสมาชิกพรรคเรา แต่ผมก็ไม่ได้รังเกียจนะ เขาเป็นประชาธิปัตย์เราก็ช่วย ผมไม่อยากแก้ตัว ตอนนี้ผมก็หน้าดำไปหมดแล้ว" นายอนุสรณ์ ชี้แจง นายอนุสรณ์ บอกด้วยว่า ไม่เป็นไรถ้าคนจะต่อต้าน เพราะทำเต็มที่ ลงสมัครครั้งหน้าจะเอาอย่างไรก็ว่ากันไป  ไม่รู้จะพูดอย่างไร เขตนี้มีผู้แทน 2 คน แต่ชาวบ้าน 1.5 แสนคน 80 กว่าชุมชน ส.ส.เดินทางไปวันละ 5 หมู่บ้านก็เต็มที่แล้ว ไม่อย่างนั้นกี่วันกี่เดือนจะครบหมด ตอนนี้ขอถุงยังชีพจากศปภ.ไปก็ได้น้อย  ได้คนละนิดละหน่อย ตั้งแต่ศปภ.ย้ายไปจากดอนเมือง http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/รายงานพิเศษ/121076/เสียงคนบางเขนถึงส-ส-เพื่อไทย   เสียงสะท้อนคนบางเขนถึงส.ส.เพื่อไทย ชาวบ้านประสานเสียงน้ำท่วมเกือบครึ่งเดือนแต่ยังไม่เคยเห็นหน้า “ที่นี่ไม่มีหน่วยงานราชการ รัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือ ส.ส.พื้นที่ไม่เคยเห็นหน้า” ชาวบ้านที่ติดอยู่ในซอยพหลโยธิน 48 บริเวณบ้านสวนบางเขน เขตบางเขน แขวงอนุสาวรีย์ เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเซ็งนักการเมืองสุดขีด พวกเขาหลายคนบอกกับเราว่า พื้นที่ตรงนี้ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งให้มารับใช้ประชาชน แต่กระทั่งถึงวันนี้น้ำท่วมเกือบครึ่งเดือนยังไม่เคยเห็นหน้าคือ “นายอนุสรณ์ ปั้นทอง”ส.ส.พรรคเพื่อไทย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันคุ้นปาก “เสี่ยไก่” อีกคนที่ชาวบ้านที่นี่จำชื่อได้แม่น เพราะเข้าไปกากบาทกับมือคือ “สายัณห์ จันทร์เหมือนเผือก” ส.ก.จากพรรคเพื่อไทยอีกเช่นกัน "ผิดหวังมาก คนที่นี่ครึ่งหนึ่งเลือกเพื่อไทย เลือกกันเยอะเลย แต่ตอนนี้ส.ส.ยังไม่เคยโผล่ให้เห็นหัว ชาวบ้านติดต่อขอเครื่องสูบน้ำไปครั้งแรกบอกไม่มี นี่แค่ขอแต่เครื่องไม่ได้ขอน้ำมัน มันบอกไม่มี พอเลือกตั้งแทบกราบเท้า พอแล้ว ดูสิ่งที่ทำกับพวกเรา ตอบแทนกับพวกเราสุดยอด พูดแล้วอยากร้องไห้"ชาวบ้านรายนี้เล่าวีรกรรมท่านผู้ทรงเกียรติ ที่พวกเขาเคยรัก แต่อารมณ์เหมือนถูกหักอก หากไม่เห็นกับตาก็แทบไม่น่าเชื่อว่า ปากซอยพหลโยธิน 48 ก่อนถึงตลาดยิ่งเจริญ ถนนทั้งสายคล้ายกับลำคลอง แต่เมื่อเข้าไปสุดซอยกลับเจอพื้นที่แห้งสนิทในบ้านสวน บางเขน ทำให้ชาวบ้านในละแวกบางเขนต่างอพยพมาขออยู่อาศัยกับอพาร์ทเม้นท์บ้านสวนที่สร้างคล้ายแฟลตติดกันเป็นพรืด กว่า 3,000 คนแล้ว เพราะพื้นที่ตรงนี้แห้งสนิท บ้านสวนบางเขนจึงกลายเป็นเกาะกลางน้ำที่ชาวบ้านต้องอยู่ด้วยกัน แบ่งปันอาหารการกิน โดยมีทหาร สื่อมวลชน และมูลนิธิต่าง ๆ เช่นสภากาชาดไทย เข้ามาบริจาคข้าวสาร อาหารแห้งเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ วสันต์ บุญดวง ผู้จัดการผู้บริหารนิติบุคคลบ้านสวนบางเขน บอกว่า อาหารที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนชาวบ้านที่อพยพขอมาอาศัยอยู่กับโครงการบ้านสวน ในส่วนที่เป็นผู้อพยพเพิ่มมาตอนนี้กว่า 300 ห้อง ใช้วิธีช่วยกันโดยไม่คิดค่าห้องพัก ขอให้ช่วยแค่ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ซึ่งการช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันอย่างนี้ ที่นี่จึงแทบไม่มีคำว่าชาวบ้านทะเลาะกัน มีแต่ช่วยเหลือพึ่งพากัน เพราะทุกคนลำบากเหมือนกัน “ชาวบ้านช่วยกันเองทั้งนั้น ที่นี่มีแต่ทหารคอยรับคอยส่งชาวบ้าน เวลาจะออกไปข้างนอก ไม่มีส.ส.เพื่อไทยที่ชาวบ้านเลือก มีแต่นายวิทเยนทร์ มุตตามระ ส.ส.สอบตกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มาแจกข้าว เมื่อวานเอามาให้ 200 กล่อง กลายเป็นคนสอบได้ ไม่มาช่วย คนสอบตกมาช่วย ไม่เอาแล้วครับ ส.ส.ที่ไม่ช่วยประชาชน ตอนนี้ผมอยากฝากไปถึงรัฐบาล ขอให้เป็นห่วงประชาชนบ้าง ไม่ใช่นั่งดูดาย ไม่เหลียวแลอะไรเลย สัญญาอะไรกับประชาชนไว้ ก่อนคุณเป็นผู้แทนพูดอะไรไว้ ถ้าทำไม่ได้อย่างสัญญาอย่าพูด ไม่ใช่พูดเฉพาะเลือกตั้งขอไปที เป็นผู้แทนประชาชนก็ขอให้ช่วยประชาชนบ้าง”วสันต์ กล่าว อนุสรณ์ สำหรับชาวบ้านที่มาขออยู่อาศัยในบ้านสวน บางเขน มีทั้งหมู่บ้านสินทรัพย์นคร หมู่บ้านเจษฎา หมู่บ้านทิมเรืองเวช หมู่บ้านอยู่รวย หมู่บ้านแกรนด์โฮม หมู่บ้านริมคลอง 2 หมู่บ้านแอนเน็ค สายไหม และหมู่บ้านทหารอากาศ ซึ่งอยู่ในเขตบางเขนแทบทั้งสิ้น         นายอนุสรณ์ ปั้นทอง
แจ้งปิดการจราจร 11พ.ย.
บก.จร.แจ้งปิดการจราจรสายหลักประจำวันที่ 11 พ.ย. 1.ถ.วิภาวดี ตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงแยกสะพานลอยสุทธิสาร 2.ถ.พหลโยธิน ตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงแยกกำแพงเพชร 3.ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่แยกพงศฺเพชรถึงแยกเกษตร 4.ถ.รามอินทรา ตั้งแต่วงเวียนบางเขน ถึง ใต้ทางด่วนรามอินทรา กม.5 5.ถ.งามวงศ์วาน ตั้งแต่แยกพงศ์เพชร ถึงแยกเกษตร 6.ถ.ประเสริฐมนูญกิจ(เกษตรนวมินทร์) ตั้งแต่แยกเกษตร ถึงแยกลาดปราเคล้า 7.ถ.รัชดาภิเษก ตั้งแต่ทางต่างระดับรัชวิภา ถึงแยกสุทธิสาร 8.ถ.นวมินทร์ ตั้งแต่แยกรามอินทรา กม.8ถึง ซ.นวมินทร์ 147 9.ถ.สุวินทร์วงศ์ ตั้งแต่แยกพาณิชย์การมีนบุรี ถึงแยกถ.ราษฏร์อุทิศ 10.ถ.เสรีไทย ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่แยกมีนบุรี ถึงนิคมอุตสาหกรรมาบางชัน  เดิม ระดับน้ำ 20- 30 ซม. เพิ่ม เป็น 30  - 40 ซม.            ปิดการจราจรถนนสายหลักทิศตะวันตก 1.ถนนเพชรเกษม ตั้งแต่พุทธมณทลสาย 4 ถึง ซ.เพชรเกษม 18 2.ถ.กาญจนาภิเษก ตั้งแต่แยกสะพานคลองมหาสวัสดิ์ สะพานคลองบางไผ่ 3.ถ.ราชพกฤษ์ ตั้งแต่แยกสะพานคลองมหาสวัสดิ์ ถึง ถ.เพชรเกษม 4.ถ.จรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 77 ถึง 89 และ ซ.จรัญ 43 ถึงคลองบางกอกน้อย 5.ถ.บรมราชชนี ตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ถึงพุทธมณฑลสาย 4 6.ถ.สิรินธร ตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงทางต่างระดับสิรินธร 7.ถ.อรุณอัมรินทร์ ตั้งแต่ แยกอรุณอัมรินทร์ ถึง รพ.ศิริราช เพิ่มเติม : แจ้งการเปิดการจราจร อย่างไม่เป็นทางการ (ระดับน้ำลดลง) 1) ถ.เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งแต่แยกเจ้าคุณทหาร ถึงแยกตัด ถ.คุ้มเกล้า 2) ถ.จรัญสนิทวงศ์ 2.1) ถ.จรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึง ซ.จรัญสนิทวงศ์ 90 (รพ.ยันฮี) 2.2) ถ.จรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 77 - แยกบางพลัด – แยกบรมราชชนนี 2.3) ถ.จรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่ แยกบรมราชชนนี  - ซ.จรัญสนิทวงศ์ 34   ยังมีระดับน้ำ 20 - 30  ซม. 3)  เชิงสะพานกรุงธน ถึงแยกบางพลัด ยังมีระดับน้ำเป็นระยะ  20 – 30 ซม.  http://www.posttoday.com/อาชญากรรม/121110/แจ้งปิดการจราจร-11พ-ย-
ทางด่วน อัมพาตหนัก รถติดนานนับวัน หลังเปิดใช้หนีน้ำฟรี
  Mthai News : ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การจราจรบนทางด่วนว่า หลังจาก กทพ. ยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าปริมาณจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ทางพิเศษศรีรัช หรือระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และทางพิเศษอุดรรัถยา หรือบางปะอิน-ปากเกร็ด เพิ่มขึ้นกว่า 10 % เมื่อเทียบกับช่วงที่จัดเก็บค่าผ่านทางตามปกติ ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องชดเชยเงินประมาณ 184 ล้านบาท โดยคำนวณจากปริมาณจราจรเดือน ตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2554 ขณะที การจราจรบนทางด่วนถือเป็นการเดินทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะน้ำได้ทะลักท่วมถนนสายหลักพื้นที่ราบในหลายพื้นที่ แต่ระบบการจัดการจราจรบนทางด่วนถือว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งก็รวมไปถึงรถยนต์ส่วนบุคคลรวมทั้งบรรดารถรับจ้าง ที่นำมาจอดหนีน้ำบนทางด่วน ก็เป็นปัญหาทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมากด้วย Mthai News
ยิ่งลักษณ์ คุยผ่านรายการพบปชช. โว สถานการณ์ดีขึ้น ย้ำ บิ๊กแบ็คแค่ชะลอน้ำ
  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนว่า สถานการณ์น้ำในสัปดาห์ที่ผ่านมาดีขึ้น มีหลายจังหวัดน้ำลด อาทิ นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง และเริ่มฟื้นฟู ส่วนใน กทม. หลังจาก ศปภ.วางบิ๊กแบ็คเสร็จ สามารถชะลอน้ำด้านเหนือและตะวันออกได้ระดับหนึ่ง ทำให้ กทม.สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น และย้ำว่าอีกครั้งว่า บิ๊กแบ็คไม่สามารถหยุดน้ำทั้งหมดได้ แต่เป็นวิธีการที่ดีในการชะลอน้ำเพื่อการเร่งระบายน้ำออกจากคลอง โดยให้กรมชลประทานรับผิดชอบในการระบายน้ำออกจากคลองรังสิต และให้กระทรวงมหาดไทย ดูแลเรื่องสำรวจความเสียหาย และมอบเงินเยียวยาให้เสร็จภายใน 45 วัน ตลอดจนมอบเครื่องสูบน้ำ 70 เครื่องให้ กทม.บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.ชั้นใน ขณะที่ฝั่งตะวันตก มีการเร่งมือซ่อมแนวกั้นน้ำต่างๆ คาดว่าเสร็จสิ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำใน จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี ไหลท่วม กทม.น้อยลง รวมถึงการพยายามขุดคลองเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ควบคู่กับการพยายามกู้ถนน 340 เพื่อเป็นเส้นทางในการสัญจรสู่ภาคใต้ พร้อมกันนี้ ขอขอบคุณมิตรประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายชาติ ที่ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ ตลอดจนขอบคุณ ส.ส.ที่ลงมติผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ในวาระแรก และยืนยันว่าจะใช้งบฯ อย่างโปร่งใส และเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ Mthai News
ฟ้าหญิง ขอพสกนิกรอธิษฐานให้ ในหลวง ทรงพระสุขภาพพลานามัยดี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระดำรัสระหว่างเสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรถึงขนาดช็อก ไม่รู้สึกพระองค์ หลังทอดพระเนตรข่าวน้ำท่วมทางสถานีโทรทัศน์ พระดำรัสดังกล่าวมีความว่า “ข้าพเจ้าต้องเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชมาเป็นเวลา 2 ปี อาการแรก เมื่อ 2 ปีก่อนนั้นปอดอักเสบ ไม่ขอใช้ราชาศัพท์ เกรงว่าท่านจะงง บางทีข้าพเจ้าก็งงเหมือนกัน เพราะบางทีก็ไม่เคยใช้ แรกๆ ทรงปอดอักเสบแล้ว ทรงพระราชดำเนินไม่ได้ ตอนแรกนึกว่ากล้ามเนื้อลีบหรือฝ่อ ทำกายภาพหลายอย่าง จนหมอตรวจอีกทีน้ำในพระสมองมากเกินไปจึงไปกดระบบประสาท ต้องถวายผ่าตัดเพื่อเอาน้ำออกจากไขสันหลัง ดูดน้ำจากสมองเอาไปทิ้งในช่องท้อง แล้วทรงพระสำราญ “ทรงพระสำราญมาเรื่อยๆ จนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ข้าพเจ้าตอนนั้นไปเยี่ยมคนที่ประสบอุทกภัยที่อยุธยา กลับมาพยาบาลรีบมาตามบอกว่า ให้รีบไปดูพระเจ้าอยู่หัวหน่อย บอกถ่ายเป็นเลือดไม่น้อยเลย ประมาณ 800 ซีซี ความดันตกมาก อยู่ในภาวะทรงช็อก ไม่รู้สึกพระองค์ ข้าพเจ้าวิ่งไปเลย ตอนนั้นต้องถวายเลือดและถวายอาหารทางเส้น หมอสันนิษฐานว่าเป็นเพราะทรงกังวล ข้าพเจ้าถามพยาบาลว่า ท่านทำอะไรบ้างในวันสองวันนี้ ก็ว่าดูข่าวน้ำท่วม แสดงให้เห็นเลยว่า ท่านรักประชาชนเหมือนลูกหลาน ทรงเป็นห่วงเป็นใย ห่วงเสียจน ท่านไม่ค่อยรับสั่ง รับสั่งน้อย พอเครียดขึ้นมาอาการแสดงออกทางร่างกาย พอเครียดเลือดก็ออกในกระเพาะ ขณะนี้แพทย์ถวายการรักษาเป็นปกติแล้ว แต่ที่เล่ามานี้ข้าพเจ้ายังซาบซึ้งเลยว่า โอ้โห ท่านป่วยอยู่ท่านยังห่วงราษฎรถึงเพียงนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เป็นห่วงตลอดเวลา ทรงติดตามทั้งทางโทรทัศน์และทางวิทยุอยู่เสมอ และทรงถามข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าออกมาเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยต่างๆ สองพระองค์ประทับที่ศิริราชก็จริง แต่พระทัยอยู่กับประชาชนทุกคน ใครซาบซึ้งในน้ำพระทัย ขอเพียงแต่ให้อธิษฐานในใจเท่านั้นว่า ขอให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนม์ยืนและพระสุขภาพแข็งแรง กำลังใจของท่านทุกคนจะถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และจะทรงได้กำลังใจจากประชาชน นอกจากนี้ ยังทรงย้ำให้ราษฎรที่ประสบอุทกภัยมีความอดทน มีระเบียบวินัย โดยทรงยกตัวอย่างที่ดีของคนญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาสึนามิและไม่กักตุนของจำ เป็นจนคนอื่นลำบาก สำหรับพระดำรัสดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงประทานเป็นครั้งที่สองแล้ว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ย. แต่หนนี้เป็นครั้งแรกที่ทรงระบุว่า ในหลวงทรงพระประชวรถึงขนาดช็อก ไม่รู้สึกพระองค์ Mthai News
รัชดา-ลาดพร้าว ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง
ถ.รัชดาภิเษก เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี น้ำไหลลงเข้าท่อระบายน้ำ ไม่มีผุด น้ำในคลองบางซื่อ ลดลงเล็กน้อย สำหรับ สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด ถนนรัชดา-ลาดพร้าว ระดับน้ำทรงตัว ซึ่งพื้นที่ในจุดนี้ รับน้ำมาจากบางเขนและดอนเมือง โดยพื้นที่จุดดังกล่าว น้ำท่วมมากว่า 1 สัปดาห์ มีแนวโน้มดีขึ้น น้ำเริ่มลดลง น้ำที่ผุดมาตามท่อบน ถ.รัชดา ก็ไหลลงคลองบางซื่อ ฝั่งที่ติดกับพหลโยธิน อาคารพาณิชย์ ร้านค้าต่าง ๆ ชาวบ้าน ค้าขายตามปกติ ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง ส่วนของ ถ.รัชดา ขาเข้า รอบ ๆ ถนนรัชดา-ลาดพร้าว ทรงตัว รถเล็ก เข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ลำบาก เตือน ปชช. อย่าฝืนเข้าไปในพื้นที่ ส่วนระดับที่ คลองบางซื่อ เริ่มส่งสัญญาณที่ดี ระดับน้ำในคลองลดลง จนท. ทั้ง อาสาสมัคร มูลนิธิ ตำรวจบ้าน คอยดูแลและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ แยกเกษตรศาสตร์ น้ำลดแล้ว 10-20 ซ.ม. สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่ บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ระดับน้ำลดลง 10-20 ซ.ม. แต่ยังทรงตัว ตอนนี้เหลือ 60 ซ.ม. จากแนวน้ำเดิม ประชาชน ยังใช้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่อง โดยมีการนำรถของทหารมาให้ พหลฯ บางเขน สะพานใหม่ งามวงศ์วาน นวมินทร์ หน้ากรมยุทธโยธาทหาร มีเนินกั้นน้ำไว้ ทำให้น้ำยังไม่ท่วมนวมินทร์ , อุโมงค์เกษตร ยังไม่ท่วม , การเปิดเรียน 14 พ.ย. เลื่อนเป็น 19 พ.ย. เพราะระดับน้ำยังท่วมสูง ยกเว้น วิทยาเขตกำแพงแสน และสกลนคร ยังเปิดทำการเหมือนเดิม เพชรเกษม ยังวิกฤติ น้ำสูงต่อเนื่อง พ.ต.อ.ธนวัฒน์ ตั้งวงศ์เจริญ ผกก.สน.หนองแขม เปิดเผย สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่ว่า ในส่วนของ ถ.เพชรเกษม ระดับน้ำ ยังชลอตัวและเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น พื้นที่ ถ.เพชรเกษม ขาเข้าออก ซอยคู่และคี่ ระดับน้ำสูง 20-80 ซ.ม. น้ำในคลองภาษีเจริญ ยังสูงมากและเอ่อล่นตลิ่งเข้ามท่วมบ้านเรือนประชาชน ทั้ง 2 ฝั่ง โดยเบื้องต้น สน.หนองแขม ได้มอบหมายให้ ตำรวจ ออกตรวจตราและช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ โดยให้ ตำรวจ เข้าไปประจำการในจุดที่เข้าออกลำบาก และให้ไปเรียนขับเรือหางยาว เรือยนต์ หลังจากที่ ตอนนี้ ทาง บช.น. ได้มอบเรือมาให้จำนวน 10 ลำ ซึ่งเพียงพอในการทำงาน มีวิธีขับเคลื่อนป้องกันไม่ให้เสียหาย ทั้งนี้ ผกก.สน.หนองแขม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ หมู่บ้านเศรษฐกิจ ถ.เพชรเกษม เขตบางแค ถึงกาญจนาภิเษก น้ำยังสูง 80 ซ.ม. ใกล้กับ คลองทวีวัฒนา พุทธมณฑลสาย 4 น้ำยังลึกมาก และต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สิ่งที่ลำบากมากในขณะนี้ คือการคมนาคม เนื่องจาก ต้องใช้เรือและรถยกสูงเป็นหลัก รวมถึง น้ำดื่มยังขาดแคลน น้ำทะลัก3หมู่บ้าน สน.ท่าข้าม กลางดึก พ.ต.ท.นิวัฒน์ เทียนศิริ สวป.สน.ท่าข้าม เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำท่วม พื้นที่ สน.ท่าข้าม ล่าสุด โดยระบุว่า ขณะนี้ ถ.พระราม 2 น้ำยังไม่ท่วม แต่น้ำได้ไหลเข้าใกล้และประชิดเข้ามาทาง ถ.บางขุนเทียน บางบอน โดยบางจุด มีระยะห่างเพียง 100 เมตร เท่านั้น ส่วนน้ำผุดตามท่อ ยังไม่พบแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ล่าสุด ในพื้นที่ สน.ท่าข้าม มี 3 หมู่บ้าน ที่ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่แล้ว เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.หมู่บ้าน DK น้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน ระดับน้ำสูงกว่า 30-40 ซ.ม. 2.ชุมชนเคหะธนบุรี โครงการ 1 น้ำไหลทะลักเข้าท่วม ทั้งหมู่บ้าน ระดับน้ำสูง 30 ซ.ม. ซึ่งในจุดนี้เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ได้มีปัญหาความขัดแย้งกันขึ้นของชาวบ้านการเคหะบางบอน จำนวน 200 กว่าคน ปิดถนนบริเวณคู่ขนานพระราม 2 ขาเข้า บริเวณหน้าการไฟฟ้าบางขุนเทียน เนื่องจาก ไม่พอใจชาวบ้านการเคหะธนบุรี (เคหะไฟฟ้า) ซึ่งอยู่หลังโลตัสพระราม 2 นำกระสอบทรายไปวางขวางทางน้ำไหล บริเวณคลองรางแก้ว จนทำให้น้ำท่วมสูงบริเวณเคหะบางบอน โดยในเช้าวันนี้จะมีการเจราจรกันอีกครั้ง โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วม ส่วนชาวบ้านส่วนใหญ่ เตรียมตัวไม่ทัน ทางตำรวจได้จัดรถและเรือ สำหรับช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว และ 3.ชุมชนเคหะบางบอน น้ำสูง กว่า 50 ซ.ม. ท่วมสูงขึ้นอีก อีก 100 ม. หัวน้ำถึง ถ.พระราม 2 พ.ต.ท.สุรชาติ บุญเจริญ สารวัตรจราจร สน.แสมดำ เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในพื้นที่ สน.แสมดำ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่ วงแหวนต่างระดับพระราม 2 ไปจนถึงเขตติดต่อ จ.สมุทรสาคร ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้มีการไปตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งก็ยังไม่พบว่า มีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นผิวการจราจร ส่วนกรณีน้ำผุดท่อระบายน้ำนั้น ในพื้นที่ก็เริ่มมีน้ำผุดท่อระบาย และซึมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งชิดริมถนนแล้ว แต่ยังไม่เอ่อขึ้นมาบนพื้นผิวการจราจร ทั้งนี้ มวลน้ำในเขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน นั้น ก็เริ่มขยับเข้าใกล้พื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง โดยเหลือเพียง 100 เมตร น้ำก็จะไหลเข้ามาติดกับถนนพระราม 2 เส้นหลักแล้ว สำหรับ กรณีมีกระแสข่าวว่า มีน้ำเอ่อขึ้นมาบนถนนพระราม 2 ซอย 95 สูง 20 ซ.ม.นั้น ยังไม่ได้รับรายงาน โดยทราบเพียงซอย 82 ที่มีน้ำเอ่อขึ้นมาบนพื้นผิวการจราจร ประมาณ 20 - 30 ซ.ม. ทุกช่องทางการจราจร เป็นระยะทาง ประมาณ 300 เมตร แต่รถเล็กยังสามารถใช้การได้ตามปกติ น้ำยังไม่ทะลักถ.พระราม2-หลายซอยวิกฤติ! สถานการณ์น้ำบน ถ.พระราม 2 ที่เป็นจุดรับน้ำ จากบางแคและบางบอนในขณะนี้ น้ำยังมาสามารถไหลขึ้นไปบน ถ.พระราม 2 ได้ แต่ที่บริเวณ พระราม 2 ซ.60 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ หมู่บ้านประชาสิริ เริ่มมีน้ำเอ่อเข้าท่วมระดับน้ำสูง 5 - 10 ซ.ม. ซึ่งทางหมู่บ้าน ได้มีการสูบน้ำออกตลอดเวลา ส่วนบริเวณ ถ.เอกชัย บางบอน พบว่า ขณะนี้เริ่มมีน้ำซึมขึ้นมาจากท่อระบายน้ำบางแล้ว ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณดังกล่าว มีการป้องกัน โดยวางแนวกระสอบทรายและก่ออิฐหน้าบ้าน เพื่อป้องกันน้ำจะไหลทะลักเข้าท่วมบ้าน นอกจากนี้ บริเวณ ซ.พระราม 2 ที่ 61 มีน้ำท่วมขังกว่า 30 ซ.ม. มาเป็นเวลา 1 อาทิตย์ แล้ว โดยน้ำที่ไหลท่วมนั้น เป็นที่เอ่อล้นมาจากคลองรางแก้ว และคลองสนามชัย ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมา ชาวบ้านการเคหะธนบุรี 3 กว่า 200 คน ได้ออกมาชุมนุมปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้ชาวบ้านการเคหะธนบุรี 1 รื้อแนวกระสอบทราย ที่นำมากั้นไว้ โดยหลังจากการเจรจาชาวบ้าน การเคหะธนบุรี 1 ก็ยอมรื้อกระสอบทรายออก ระดับน้ำคลองบางซื่อลดลง 5 ซ.ม. จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ที่ปฏิบัติหน้าที่ บริเวณสถานีสูบน้ำที่ 5 คลองบางซื่อ พบว่า ระดับน้ำในคลองวันนี้ ลดลงจากเมื่อวานที่ผ่านมา ประมาณ 5 ซ.ม. และจากการวางแนวทางในการระบายน้ำออกนอกกรุงเทพมหานครนั้น เชื่อว่า ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คงแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ในการระบายน้ำออกจาก ถ.วิภาวดี ในเช้าวันนี้ ยังคงทำได้ดีและระดับน้ำ รวมถึง หัวน้ำเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งบริเวณสถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ บน ถ.วิภาวดีรังสิต นั้น ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ถึง 4 เครื่อง ซึ่งยังคงทำงานอย่างเต็มที่ น้ำถ.วิภาวดี ทรงตัว - ซึมท่อ ปตท.แล้ว สถานการณ์ล่าสุดที่ ศปภ. บริเวณอาคาร เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน มีเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ศปภ. กันอย่างบางตา ระดับน้ำบริเวณ ถ.วิภาวดี ยังคงที่มีเพียงรถจีเอ็มซีของทหาร สามารถสัญจรผ่านได้นั้น ส่วนบริเวณภายในของ บริษัท ปตท. มีน้ำเอ่อมาตามท่อระบายน้ำเล็กน้อย คาดว่า ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อ บริษัท และ ศปภ. Link : http://www.innnews.co.th/รัชดา-ลาดพร้าว-ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง--320723_03.html
เปิดแผนที่ทหาร กทม.16 เขต รอดน้ำท่วม
แผนที่เส้นทางน้ำของ "กรมแผนที่ทหาร "อัพเดท 11 พ.ย.พบว่า มี กทม.ชั้นในหลายเขตที่คาดว่าน้ำจะไม่ไหลผ่าน ซึ่งนั้นเท่ากับว่าโอกาสรอดน้ำท่วมมีสูงมาก ถึง 16 เขต ไม่ว่าจะเป็น เขตบางซื่อ  ดุสิต  วังทองหลาง ห้วยขวาง  ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก สาธร ห้วยขว้าง วัฒนา  คลองเตย บางคอแหลม ยานนาวา คลองสาน พระโขนง บางนา คลองเตย ทั้งนี้ แผนที่ของ"กรมแผนที่ทหาร "ประกอบด้วยข้อมูลจาก 2 หน่วยงาน คือ ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำที่กำลังท่วม เป็นข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กับข้อมูลความสูงภูมิประเทศ และข้อมูลแผนที่กรุงเทพฯของกรมแผนที่ทหาร แผนที่ฉบับนี้เป็นการนำข้อมูลน้ำล่าสุดมาทาบซ้อนกับข้อมูลที่กรมแผนที่ทหารมีอยู่ เพื่อประเมินทิศทางน้ำว่าจะไหลไปทางไหน โดยแบ่งน้ำไหลลูกศรขนาดใหญ่ แสดงถึงมวลน้ำใหญ่ และลดระดับกันไปตามปริมาณน้ำ ขณะที่สีฟ้าคือพื้นที่น้ำท่วมขัง http://news.sanook.com/1071225/เปิดแผนที่ทหาร-กทม.16-เขต-รอดน้ำท่วม/
ขีดเส้น 15 พ.ย. รถจอดซ้อนคันบนทางด่วน รีบเคลื่อนย้าย
  หลังจากมีประชาชนจำนวนหนึ่งนำรถยนต์ขึ้นไปจอดบนทางด่วนเพื่อหนีน้ำท่วม และจากการที่ทางด่วนประกาศให้ใช้ฟรี โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านทาง ทำให้มีปริมาณรถบนทางด่วนเยอะขึ้นจนการจราจรติดขัดยาวหลายกิโลเมตร ล่าสุด นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ขอให้ผู้ที่นำยานพาหนะไปจอดบนบริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วน หรือจอดรถซ้อนคันบนทางด่วน รีบเคลื่อนย้ายยานพาหนะของตนเองภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการขนย้ายยานพาหนะเหล่านั้นไปยังที่อื่น Mthai News
กทม.ประกาศอพยพแสมดำเขตบางขุนเทียน
ฟังคลิปเสียงข่าว ผู้ว่าฯกทม. ประกาศ 3 ชุมชน ในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นบนที่สูง และขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง อพยพไปที่ปลอดภัย เนื่องจากน้ำเริ่มสูงขึ้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศให้พื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน จำนวน 3 ชุมชน ประกอบด้วยชุมชนการเคหะแห่งชาติ โครงการ 1 ชุมชนทรัพย์สินพัฒนา และชุมชนเชื่อมสัมพันธ์ ถนนพระรามที่ 2 ซอย 88 ขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ ปลั๊กไฟ ขึ้นที่สูง และให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอพยพไปยังศูนย์พักพิง ที่ทางกรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้ หรือสถานที่ ที่มีความปลอดภัย โดยให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย เด็ก สตรีมีครรภ์ และ คนชรา เป็นลำดับแรก เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของเขตบางขุนเทียน โดยระดับน้ำได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์จากกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างสุดความสามารถ และจะร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. อย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนต่อไป น้ำคลองมหาสวัสดิ์-คลองลาดพร้าว น้ำยังสูง กรุงเทพมหานคร สรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ประจำวัน โดยระดับน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ยังอยู่ในระดับสูง และน้ำจากศาลายา จังหวัดนครปฐม ยังคงหลากเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี ตลอดเวลา ซึ่งระดับน้ำย่านเขตทวีวัฒนา เริ่มลดลง ส่วนระดับน้ำในคลองหกวา สายล่าง ระดับทรงตัวในระดับสูง ส่วนคลองลาดพร้าว ที่รับน้ำมาจากคลองหกวา สายล่าง ระดับน้ำยังทรงตัว ระดับสูงเช่นกัน โดยระดับน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงล้นตลิ่งบางช่วง ด้านระดับน้ำคลองเปรมประชากร ทางตอนเหนือบริเวณดอนเมืองนั้น ยังคงล้นตลิ่ง ตอนล่างในเขตบางซื่อ ระดับน้ำยังคงปริ่มตลิ่ง แต่สถานีสูบยังคงสูบน้ำได้ทัน น้ำจึงไม่ล้นเอ่อ และระดับน้ำในคลองบางซื่อ ทั่วถนนรัชดาภิเษก เริ่มลดลงเรื่อยๆ คลองบางซื่อเสูบน้ำดีวิภาวดีฯน้ำลด สถานการณ์น้ำล่าสุดขณะนี้ ที่บริเวณคลองบางซื่อ ถนนวิภาวดี-รังสิต เจ้าหน้าที่ได้เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่บริเวณถนนวิภาวดีฯลงคลองบางซื่อ ตลอด 24 ช.ม. เพื่อลดระดับน้ำที่ท่วมขัง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง หัวน้ำก็ยังไม่ได้ไหลข้ามไปท่วมบริเวณแยกสุทธิสาร ส่วนระดับน้ำในคลองบางซื่อ ก็ถือว่าลดลง เหลือระดับเดียวกับบริเวณแนวคันกั้นน้ำแล้ว ทางด้านถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่บริเวณสะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว มาจนถึงบริเวณคลองบางซื่อ ขณะนี้ระดับน้ำมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 30-35 ซ.ม. ถือว่าลดลง จากเมื่อวานนี้ประมาณ 5-10 ซ.ม. ในบางจุด ส่วนบริเวณเชิงสะพานนั้น ระดับน้ำมีความสูง อยู่ที่ประมาณ 50-60 ซ.ม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ซึ่งบางจุดเลนขวาสุด เริ่มมองเห็นฟุตปาธบริเวณเกาะกลางแล้ว สำหรับหัวน้ำก็ยังไม่ไหลข้ามมายังอีกฝั่งของสะพาน ด้านการจราจรนั้น รถเล็กยังคงไม่สามารถสัญจรได้ ตั้งแต่บริเวณสะพานข้ามคลองบางซื่อ ไปทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ไปสวนสยามน้ำท่วม50ซม.ยูโรจมแล้ว4คัน บรรยากาศการเดินทางของประชาชน บริเวณแยกเกษตร-นวมินทร์ เช้าวันนี้ เป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากตลอดเส้นทาง มีน้ำท่วมสูง 20-30 เซนติเมตร การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเพียงรถประจำทาง ขสมก. และรถทหารเท่านั้น ที่ให้บริการอยู่ ขณะที่เส้นทางสวนสยาม ซึ่งเป็นถนนที่มุ่งหน้าสู่สวนสยาม พบว่า ตลอดเส้นทางน้ำท่วมสูง โดยระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 30-50 เซนติเมตร รถประจำทางยังคงให้บริการอยู่ แต่รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งพนักงานขับรถประจำทาง ขสมก. รายหนึ่ง กล่าวว่า บนถนนสวนสยาม น้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร แต่ในอู่รถเมล์สวนสยาม ซึ่งอยู่ข้างๆ เป็นอู่รถ และท่าปล่อยรถ ระดับน้ำสูงถึง 1 เมตรแล้ว ทำให้รถเมล์ต้องย้ายอู่รถไปจอดที่อื่น แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมในถนนสวนสยาม และอู่รถเมล์สวนสยาม ซึ่งอยู่ข้างๆ กัน ทำให้รถยูโร ซึ่งจอดอยู่ในอู่รถ ได้รับความเสียหายจมน้ำไปแล้ว 3-4 คัน โดยเป็นรถที่รอการซ่อม Link : http://www.innnews.co.th/กทม-ประกาศอพยพแสมดำเขตบางขุนเทียน--320904_03.html
อัพเดทเส้นทางใช้การได้ หรือควรเลี่ยง 13 พ.ย.
แจ้งเส้นทางใช้การได้ หรือควรหลีกเลี่ยงน้ำท่วมขัง จากกองบังคับการตำรวจจราจร 13พ.ย.54   ทิศตะวันตก ถนนสายหลักปิดการจราจร จำนวน 8 เส้นทาง  1) ถ.เพชรเกษม ขาเข้า-ขาออก จากแยกพุทธมณฑลสาย 4 ถึง ซ.เพชรเกษม ซ.18 ระดับน้ำ 40 -80 ซม.  2) ถ.กาญจนาภิเษก  2.1 ) ถ.กาญจนาภิเษก ตั้งแต่ตัด ถ.บรมราชชนนี ถึงต่างระดับฉิมพลี ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 50 ซม.  2.2 ) ถ.กาญจนาภิเษก ตั้งแต่ตัด ถ.บรมราชชนนี ถึงคลองบางพรม ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 50 ซม.  2.3 ) ถ.กาญจนาภิเษก ตั้งแต่คลองบางพรม ถึงคลองบางไผ่ ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 60 ซม.  3) ถ.จรัญสนิทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 77 ถึง ซ.จรัญสนิทวงศ์ 91 ระดับน้ำ 60 ซม. และถ.จรัญสนิทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 34 ถึงคลองบางกอกน้อย ระดับน้ำ 60 ซม.  4) ถ.ราชพฤกษ์  4.1) ถ.ราชพฤกษ์ ตั้งแต่ตัด ถ.บรมราชชนนี ถึง ถ.สวนผัก ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 40 ซม.  4.2) ถ.ราชพฤกษ์ ตั้งแต่ตัด ถ.บรมราชชนนี ถึงคลองบางแวก ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 30 ซม.  5) ถ.สิรินธร ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่หน้าห้างตั้งฮั่วเส็ง ถึงทางต่างระดับสิรินธร ระดับน้ำ 60 ซม.  6) ถ.อรุณอัมรินทร์  6.1) ถ.อรุณอัมรินทร์ ตั้งแต่ ทางลงต่างระดับอรุณอัมรินทร์ ถึงสะพานอรุณอัมรินทร์ ระดับน้ำลดลงเหลือ 60-80 ซม.  6.2) ถ.อรุณอัมรินทร์ ตั้งแต่แยกอรุณอัมรินทร์ ถึง สะพานพระราม 8 ระดับน้ำ ลดลงเหลือประมาณ 40 ซม.  7) ถ.บรมราชชนนี  7.1) ถ.บรมราชชนนี ตั้งแต่ปากทางชัยพฤกษ์ ถึงต่างระดับฉิมพลี ขาเข้า –ขาออก ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 30-40  7.2) ถ.บรมราชชนนี ตั้งแต่ต่างระดับฉิมพลี ถึงคลองควาย ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 50-60 ซม.  7.3) ถ.บรมราชชนนี ตั้งแต่คลองควาย ถึงคลองทวีวัฒนา ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 60 -80 ซม.  8) ถ.ทางคู่ขนานลอยฟ้า ปิดการจราจรตลอดสาย ไม่สามารถลงพื้นราบได้    ทิศเหนือ เส้นทางควรหลีกเลี่ยง รถยนต์ขนาดเล็กไม่ควรผ่าน  1) ถ.กำแพงเพชร ขาเข้า –ขาออก ตั้งแยกตัด ถ.พหลโยธิน ถึง ตัดถ.กำแพงเพชร 2 ระดับน้ำ 10 – 20 ซม.  2) ถ.พหลโยธิน ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางซื่อ(แยกกำแพงเพชร) ถึงแยกสะพานควาย ระดับน้ำ 20 – 30 ซม.  3) ถ.วิภาวดีฯ ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางซื่อ(ตึกชัยดีแทค) ถึงแยกสุทธิสารฯ ระดับน้ำ 20-30 ซม.  4) ถ.รามอินทรา ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่ กม.5 (ใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์)ถึง กม.8 ระดับน้ำ 20-30 ซม.  5) ถ.นวมินทร์ ขาเข้า –ขาออก ตั้งแต่ถ.นวมินทร์ซ.147 - แยกนวมินทร์ – ถึงซอยนวมินทร์ 68 ระดับน้ำ 40 ซม. 6) ถ.ลาดปลาเค้า ขาเข้า –ขาออก ตั้งแต่แยกลาดปลาเค้า ถึงหน้าวัดใหม่เสนา ระดับน้ำ 40 -50 ซม.  7) ถ.สายไหม มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดสาย ระดับน้ำ 40-50 ซม.  8) ถ.เสนานิคม 1 ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกเสนานิคม ถึงแยกวังหิน ระดับน้ำ 40 ซม.  9) บริเวณแยกวัดเสมียนนารี ระดับน้ำ 60 ซม.  10) ถ.นาวงประชาพัฒนา มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดสาย ระดับน้ำ 50 ซม.  11) ถ.บูรพา (ดอนเมือง) มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดสาย ระดับน้ำ 50 ซม.  12) ถ.กำแพงเพชร 2 (เก่า) บริเวณด้านหลังขนส่งหมอชิต 2 ระดับน้ำสูง ประมาณ 20- 30 ซม.    ทิศเหนือ ถนนสายรอง ปิดการจราจร จำนวน 18 เส้นทาง  1) ถ.พระยาสุเรนทร์ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 40-80 ซม.  2) ถ.เทอดราชันย์ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม.  3) ถ.แจ้งวัฒนะซ. 5 ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 80 ซม.  4) ถ.ช่างอากาศอุทิศ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม.  5) ถ.กำแพงเพชร 6 (ถ.โลคัลโรด) ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่หน้าหมู่บ้านเมืองเอก ถึงหน้าวัดเสมียนนารี ระดับน้ำ 80-140 ซม.  6) ถ.สรงประภา ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกศรีสมานถึงแยก กสบ. ระดับน้ำ 80 ซม.  7) ถ.เชิดวุฒากาศ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 140 ซม.  8) ถ.โกสุมร่วมใจ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม.  9) ถ.เดชะตุงคะ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม.  10) ถ.เวฬุวนาราม( วัดไผ่เขียว) ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม.  11) ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 14 ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 140 ซม.  12) ถ.เลียบคลองสอง ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกพลาธิการกองทัพอากาศ ถึงแยกสะพานปูน ระดับน้ำ 60 ซม.  13) ถ.จันทรุเบกษา ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยก รร.นายเรืออากาศ(คปอ.) ถึงแยกจันทรุเบกษา ระดับน้ำ 60 ซม. 14) ถ.วัชรพล ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกตัดถนนเพิ่มสิน ถึงห้าแยกวัชรพล ระดับน้ำ 60 ซม.  15) ถ.เพิ่มสิน (พหลโยธิน 54/1- ถ.สุขาภิบาล 5) ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม.  16) ถ.สุขาภิบาล 5 ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 60 ซม. 17) ถ.มัยลาภ ขาเข้า – ขาออก มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดสาย ระดับน้ำ 30 - 50 ซม. 18) ถ.คู้บอน ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ตัด ถ.รามอินทรา ถึงวัดคู้บอน ระดับน้ำ 40-60 ซม.    ทิศเหนือ ถนนสายหลัก ปิดการจราจร และเส้นทางเลี่ยง จำนวน 9 เส้นทาง  1) ถ.พหลโยธิน ขาเข้า – ขาออก ปิดการจราจร ถึงสะพานข้ามคลองบางซื่อ(แยกกำแพงเพชร) ระน้ำ 50 – 120 ซม.เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ.ประดิพัทธิ์- ไป ถ.พระราม 6 หรือ ถ.สุทธิสารวินิจฉัย- ไป ถ.วิภาวดีฯ หรือกลับรถไปอนุสาวรีย์ชัยฯ หรือใช้ทางลัด ซ.พหลโยธิน 2 ไป ถ.วิภาวดีฯ  2) ถ.วิภาวดีรังสิต ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรถึงสะพานข้ามคลองบางซื่อ(ตึกชัยดีแทค) ระดับน้ำ 50-110 ซม. เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ. สุทธิสารวินิจฉัย –ไป ถ.พหลโยธิน หรือ ถ.สุทธิสารวินิจฉัย – ไป ถ.รัชดาภิเษก หรือกลับรถไปดินแดง  3) ถ.รัชดาภิเษก ขาเข้า –ขาออก ปิดการจราจร ตั้งแต่ทางต่างระดับรัชวิภา ถึงแยกสุทธิสาร ระดับน้ำ 30 - 60 ซม.เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ.สุทธิสารวินิจฉัย – ไป ถ.วิภาวดีฯ หรือ ถ.สุทธิสารวินิฉัย - ไปเชื่อมลาดพร้าว ซ.64  4) ถ.ลาดพร้าว ขาเข้า –ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว ถึงสะพานข้ามคลองลาดพร้าว(ลาดพร้าว ซ.48) ระดับน้ำ 40-80 ซม. เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ.ลาดพร้าว ซ.64 - ไปเชื่อม ถ.สุทธิสารวินิฉัย แยกสุทธิสาร  5) ถ.นวมินทร์ ขาเข้า- ขาออก ปิดการจราจร ตั้งแต่ ถ.รามอินทรา กม.8 ถึง ถ.นวมินทร์ ซ.147 ระดับน้ำ 65 ซม. เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ.ประเสริฐมนูญกิจ(เกษตรนวมินทร์) - ไปถ.เลียบทางด่วนรามอินทราฯ  6) ถ.รามอินทรา ขาเข้า –ขาออก ปิดการจราจร ตั้งแต่แยกวงเวียนบางเขน ถึง รามอินทรา กม.5 (ใต้ทางด่วนรามอินทรา –อาจณรงค์) ระดับน้ำประมาณ 100-110 ซม. เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ.เลียบทางด่วนรามอินทราฯ – ถ.ประเสริฐมนูญกิจ(เกษตรนวมินทร์) – ถ.รามอินทรา - มีนบุรี หรือ ถ.เลียบทางด่วนรามอินทราฯ – ถ.พระราม 9 7) ถ.ประเสริฐมนูญกิจ(เกษตร-นวมินทร์) ขาเข้า – ขาออก ปิดการจราจร ตั้งแต่แยกเกษตร ถึงแยกลาดปลาเค้า ระดับน้ำ 40 – 60 ซม. เส้นทางเลี่ยงใช้ ถ.ประเสริฐมนูญกิจ ตั้งแต่ แยกลาดปลาเค้า – ไป ถ.เลียบทางด่วนรามอินทราฯ – ถ.นวมินทร์ 8) ถ.แจ้งวัฒนะขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจร ตั้งแต่วงเวียนบางเขน ถึงแยกคลองประปา ระดับน้ำ 90- 100 ซม. 9) ถ.งามวงศ์วาน ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจร ตั้งแต่แยกพงษ์เพชร ถึงแยกเกษตร ระดับน้ำ 100 ซม.    ทิศตะวันตก ถนนสายรอง ปิดการจราจร จำนวน 13 เส้นทาง 1) ถ.สวนผัก ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกกาญจนา ถึงสะพานข้ามทางรถไฟ ระดับน้ำ 70-100 ซม.  2) ถ.บางระมาด ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ตัด ถ.กาญจนา ถึงตัด ถ.ราชพฤกษ์ ระดับน้ำ 60-90 ซม.  3) ถ.ทวีวัฒนา ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่คลองทวีวัฒนา ถึงตัด ถ.กาญจนาภิเษก ระดับน้ำ 40-60 ซม.  4) ถ.ทวีวัฒนา ขาเข้า-เขาออก ตั้งแต่ ประตูระบายน้ำทวีวัฒนา ถึงคลองบางไผ่ ระดับน้ำ 40-60 ซม.  5) ถ.พุทธมณฑลสาย 1 ขาเข้า -ขาออก ตั้งแต่ขนส่งรถไฟสายใต้ ถึงคลองบางไผ่ ระดับน้ำ 40-60 ซม.  6) ถ.ทุ่งมังกร ขาเข้า –ขาออก ตั้งแต่ตัด ถ.บรมราชชนนี ถึงตัด ถ.สวนผัก ระดับน้ำ 80-120 ซม.  7) ถ.ฉิมพลี ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกทุ่งมังกร ถึงหน้า สน.ตลิ่งชัน ระดับน้ำ 40-60 ซม.  8) ถ.ชัยพฤกษ์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ตัด ถ.บรมราชชนนี ถึงตัดวัดชัยพฤกษ์ ระดับน้ำ 40-60 ซม.  9) ถ.บางแวก ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่คลองทวีวัฒนา ถึง สน.บางเสาธง ระดับน้ำ 40-80 ซม.  10) ถ.พุทธมณฑลสาย 2 ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 50-60 ซม.  11) ถ.พุทธมณฑล สาย 3 ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 50-80 ซม.  12) ถ.อุทยาน ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 50-70 ซม.  13) ถ.ศาลาธรรมสพน์ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 80-150 ซม.    ทิศตะวันตก เส้นทางควรหลีกเลี่ยง รถยนต์ขนาดเล็กไม่ควรผ่าน  1) ถ.สิรินธร ตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงหน้าห้างตั้งฮั่วเส็ง ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 40 ซม.  2) ถ.จรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่ แยกบรมราชชนนี - ซ.จรัญสนิทวงศ์ 34 ยังมีระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 20 - 30 ซม. 3) ถ.บรมราชชนนี ตั้งแต่หน้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ถึงทางต่างระดับสิรินธร ระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 30 ซม.    ทิศตะวันออก ถนนสายหลัก ปิดการจราจร จำนวน 1 เส้นทาง  1) ถ.สุวินทวงศ์ ขาเข้า -ขาออก ตั้งแต่แยกตัด ถ.ราษฎร์อุทิศ ถึงแยกพาณิชยการมีนบุรี ระดับน้ำ 50-60 ซม.    ทิศตะวันออก ถนนสายรอง ปิดการจราจร จำนวน 3 เส้นทาง  1) ถ.ราษฎร์อุทิศ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 70-80 ซม.  2) ถ.หทัยราษฎร์ ขาเข้า -ขาออก ตั้งแต่แยกตัดถ.สุวินทวงศ์ ถึงซ.หทัยราษฎร์ 1 ระดับน้ำ 60-80 ซม.  3) ถ.ประชาร่วมใจ ปิดการจราจรตลอดสาย ระดับน้ำ 50-60 ซม.    ทิศตะวันออก เส้นทางควรหลีกเลี่ยง รถยนต์ขนาดเล็กไม่ควรผ่าน 1) ถ.นิมิตรใหม่ ขาเข้า -ขาออก มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดสาย ระดับน้ำ 30 – 40 ซม.  2) ถ.เสรีไทย ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่แยกมีนบุรี ถึงนิคมอุตสาหกรรมาบางชัน ระดับน้ำ 40 ซม.  3) ถ.สวนสยาม ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่แยกสวนสยาม ถึง แยกรพ.นพรัตน์ ระดับน้ำ 20-30 ซม.  4) ถ.สุวินทวงศ์ บริเวณแยกมหานคร น้ำท่วมขัง ระยะทาง 300 เมตร ระดับน้ำสูงประมาณ 40 ซม.  5) ถ.เจ้าคุณทหาร ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่ตัดถ.ร่มเกล้า ถึงตัดถ.ฉลองกรุง ระดับน้ำ 40- 50 ซม.    ทิศตะวันตก-ใต้ ถนนสายทางรอง ปิดการจราจร 2 เส้นทาง  1) ถ.พัฒนาการ (บางแค) ขาเข้า – ขาออก ตลอดสาย ระดับน้ำ 80 ซม.  2) ถ.กำนันแม้น ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่ตัด ถ.เทอดไท ถึงตัด ถ.กัลปพฤกษ์ ระดับน้ำ 40-80 ซม.    ทิศใต้ตะวันตก – ใต้ เส้นทางควรเลี่ยง รถยนต์ขนาดเล็กไม่ควรผ่าน 1.) ถ.กัลปพฤกษ์ ขาออก เลี้ยวซ้าย ถ.กาญจนาภิเษก- ไปถ.พระราม 2 ระดับน้ำ 20-30 ซม. ยาวประมาณ 500 ม.  2.) ถ.บางบอน 4 บริเวณตัดกับ ถ.เลียบคลองภาษีเจริญ ระดับน้ำ 40 – 50 ซม. ยาวประมาณ 500 ม.  3.) ถ.เทอดไท ตลอดสาย ระดับน้ำ 30 -60 ซม.  4.) ถ.บางแค –บางบอน(บางบอน 1 ) ขาเข้า – ขาออก ตลอดสาย ระดับน้ำ 30- 40 ซม.  5.) ถ.เอกชัย ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่แยกตัด ถ.บางบอน 1 ถึงถ.เอกชัย ซ.66 ระดับน้ำ 30 - 40 ซม.  6.) ถ.บางขุนเทียน ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่ ตัด ถ.เอกชัย ถึงทางรถไฟสายใต้ ระดับน้ำ 15 ซม.  7.) ถ.กำนันแม้น ขาเข้า – ขาออก ตั้งแต่ตัด ถ.กัลปพฤกษ์ ถึงตัด ถ.เอกชัย ระดับน้ำ 15- 30 ซม.    เส้นทางเลี่ยงที่ใช้การได้ ทิศเหนือ 1) ดอนเมืองโทลเวย์ ขึ้นด่านดินแดง – ลงสุดทางบริเวณโรงกษาปณ์ (การจราจรติดขัด รถขนาดเล็กผ่านไม่สะดวก) 2) ถ.วิภาวดีรังสิต แยกดินแดง ถึงบริเวณแยกสุทธิสาร 3) ถ.พหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัย - ถึงบริเวณแยกสะพานควาย 4) ถ.ลาดพร้าว แยกบางกะปิ - ถึงแยกโชคชัยฯ 5) ถ.รามอินทรา ตั้งแต่ กม.8 ถึง แยกมีนบุรี 6) ถ.นวมินทร์ แยกลาดพร้าว ถึงแยกเกษตรนวมินทร์ 7) ถ.ประเสริฐมนูญกิจ(เกษตรนวมินทร์ ) ตั้งแต่แยกลาดปลาเค้า ถึง ถ.นวมินทร์    เส้นทางเลี่ยงที่ใช้การได้  ทิศตะวันออก  1) ถ.เลียบท่างด่วนรามอินทราฯ ตลอดสาย  2) ถ.รามคำแหง ตลอดสาย 3) ถ.ศรีนครินทร์ ตลอดสาย  4) ถ.มอเตอร์เวย์ ตลอดสาย 5) ถ.วงแหวนตะวันออก(ใต้) ตั้งแต่ทางต่างระดับรามอินทรา ถึงทางขึ้น-ลงสุขสวัสดิ์บางขุนเทียน  6) ถ.บางนาตราด ตลอดสาย  7) ถ.บูรพาวิถี ตลอดสาย  8) ถ.ลาดกระบัง ตลอดสาย  9) ถ.อ่อนนุช ตลอดสาย  10) ถ.สุขุมวิท ตลอดสาย  ทิศตะวันตก-ใต้  1) ถ.พระราม 2 ตลอดสาย  ทิศตะวันตก  1) ถ.ราชพฤกษ์ ตั้งแต่ ถ.เพชรเกษม - ถ.กรุงธนบุรี – สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน(สาทร)    สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้การได้ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทางพื้นราบ มี 8 สะพาน  1) สะพานพุทธฯ  2) สะพานพระปกเกล้าฯ  3) สะพานตากสิน(สาธร)  4) สะพานกรุงเทพ  5) สะพานพระราม 3  6) สะพานภูมิพลฯ(วงแหวนอุตสาหกรรม)  7) สะพานกรุงธน (เปิดการจราจรอย่างไม่เป็นทางการ)  8) สะพานพระราม 7    เปิดการจราจรอย่างไม่เป็นทางการ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด่วนพิเศษ มี 2 สะพาน  1) สะพานพระราม 9 (สะพานแขวน)  2) สะพานทางพิเศษสายบางพลี – สุขสวัสดิ์  ทั้งนี้ หากประชาชนสนใจตกแต่งรถลุยน้ำ วันนี้มีเจ้าหน้าที่มาให้บริการ บริเวณแยกเกษร-นวมินทร์ จะมาให้บริการ 09.00-18.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้บริเวณดังกล่าว http://news.sanook.com/1071427/อัพเดทเส้นทางใช้การได้-หรือควรเลี่ยง-13-พ.ย/
ทีมกรุ๊ป ห่วงรื้อบิ๊กแบ็ก ทำดินแดงเสี่ยงจมน้ำ
 นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ บริษัททีมกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเดินน้ำ ได้เปิดเผย ภายหลังวานนี้ได้มีชาวบ้านย่านดอนเมืองบุกรื้อคันบิ๊กแบ้ก บริเวณ ถ.วิภาวดีขาออก ว่า การรื้อบิ๊กแบ็กในจุดดังกล่าว อาจทำให้หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครถูกน้ำท่วมได้ เนื่องจากน้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้คลองบางซื่อไม่สามารถระบายน้ำทัน โดยจุดที่ต้องระวังคือ สุทธิสาร ซอยภาวนา เลขคู่ จากนั้นก็จะมาถึงห้วยขวาง และดินแดงในที่สุด ทั้งนี้ทางทีมกรุ๊ปเชื่อว่าการวางแนวบิ๊กแบ็กทำให้เกิดการแผ่กระจายน้ำ และการชะลอน้ำได้อย่างทั่วถึง โดยปริมาณน้ำหน้าแนวบิ๊กแบ็กกับหลังแนวบิ๊กแบ็กก่อนการถูกรื้อก็สูงแค่ 1ศอกเท่านั้น อย่างไรก็ดีหากมีการรื้อบิ๊กแบ็กจะเป็นสิ่งที่น่าวิตกยิ่งขึ้น นายชวลิตกล่าว   Mthai News
<< 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 >>
รับข่าวสารและโปรโมชั่น
Username
Password
สมัครสมาชิก | ลืมรหัสผ่าน
 


agent ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อนอก ทุนการศึกษา

agent ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อนอก ทุนการศึกษา

เอเจนท์ศึกษาต่อต่างประเทศ เรียนต่อ ทุนการศึกษา